ถ้าได้รับรู้ว่ามุสลิมสักคนกินหมู เราคงรู้สึกแย่และฟันฉับได้แน่ว่าเขาทำความผิด แต่ถ้าพูดบริบทต่อว่า…ตอนนั้นเขาอยู่ในที่ ๆ หาอะไรกินอื่นไม่ได้เลยและกำลังจะอดตาย โอเค คราวนี้เราเก็ทละว่าทำไมเขาถึงเลือกทำแบบนั้น
ในแง่นี้ เห็นชัดว่าเมื่อบริบทเปลี่ยน ผลลัพธ์ก็เปลี่ยน
ในชีวิตของเรามีเรื่องต้องเลือกเยอะแยะตาแป๊ะ เราต้องเลือกทุกเรื่องจุกจิก นับตั้งแต่ จะใส่ชุดไหนดี (ถึงคุณเป็นคนไม่แยแสแคร์สื่อเรื่องนี้เลย แต่ขณะที่คุณหยิบเสื้อขึ้นมาตัวหนึ่งจากสองตัวที่แขวนไว้ในตู้ นั่นก็คือคุณได้ทำการเลือกแล้วโดยอัตโนมัติ) จะซื้อขนมเค้กชิ้นที่โชว์หน้าฉ่ำช็อกโกแลตยวนตานั่นหรือกลั้นใจเดินเชิดหน้าผ่านมันไป จะไปร่วมงานที่ศูนย์กลางฯหรืออยู่บ้านอ่านหนังสือ จะกดไลค์ให้ใครสักคนในเฟสบุ๊คหรือเพียงพยักหน้าเห็นด้วยแบบไม่ต้องมีใครเห็น และอีกสารพัดสารพันสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวันที่เราจะขออนุญาตตัดมันออกไปเลยละกัน เอาเฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ ที่อาจนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิต หรืออย่างน้อยก็ส่งผลสะเทือนต่ออะไรบางอย่างที่เราพึงใส่ใจ
กลับไปอ่านเรื่องกินหมูอีกที สิ่งที่อยากจะพูดก็คือว่า เราไม่ควรตัดสินการเลือกของคนอื่นภายใต้บริบทของเราเอง (หรือบริบทที่เราสรุปความไปเอง) เพราะรายละเอียดของชีวิตและเหตุการณ์เฉพาะหน้าของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน (เว้นแต่เรารู้รายละเอียดของเขาแน่ชัด และคิดว่าเขาเลือกทำในสิ่งที่ผิดเห็นๆ เช่น…สมมติเรารู้ว่าอันที่จริงคนกินหมูคนนั้นไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่หาอย่างอื่นกินไม่ได้สักหน่อย มีตั้งหลายอย่างที่เขาเลือกหากินได้ แต่เขาก็ยังตัดสินใจทานของที่ไม่ฮะลาล พรรค์นั้นก็ต้องนะซีฮะฮฺกันตามอมานะฮฺระหว่างผู้ศรัทธาล่ะนะคะ)
คนเขียนเคยได้พบเจอพี่น้องมุสลิมะฮฺบางคนที่ถือทัศนะว่าเดินทางต้องมีมะฮฺรอม แต่เธอก็เลือกเดินทางโดยไม่มีมะฮฺรอม ใครเห็นต่างฉงนฉงายว่าเหตุใดเธอทำเยี่ยงนี้ แต่บริบทของชีวิตเธอก็คือว่า…ที่บ้านของเธอนั้นไม่ปลอดภัยยิ่งกว่าที่ ๆ เธอเดินทางไปสู่ อย่าทำเป็นเล่นไปกับความดราม่าของชีวิตจริง คนนี้เคยได้สัมผัสเรื่องราวของพี่น้องมุสลิมะฮฺที่ผู้ชายบางคนซึ่งไม่ใช่มะฮฺรอมของเธอสามารถเข้านอก-ออกในบ้านเธอได้สบายเฉิบแม้ในยามวิกาล โดยที่ผู้ปกครองของเธอไม่สามารถทำอะไรได้ หรือไม่คิดจะทำก็ไม่ทราบ และมีแม้กระทั่งมุสลิมะฮฺที่ถูกทำร้ายร่างกายจากคนในครอบครัว แล้วเราจะไปบอกมุสลิมะฮฺแบบนี้ได้หรือว่า…เธอทำผิดนะ กลับไปบ้านซะ และอย่าเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวให้เห็นอีก
อีกตัวอย่างการเลือกที่อยากจะพูดถึงแม้สุ่มเสี่ยงอยู่บ้าง คือการตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน น้องบางคนที่มาปรึกษาข้าพเจ้าเรื่องนี้เคยต้องงงว่าทำไมพอมาคุยด้วยแล้วกลับไม่สนับสนุนให้ออก นั่นก็เพราะตัวเลือกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สำหรับคนที่เลือกระหว่างการเรียนที่มหาวิทยาลัยในสภาพที่บ่อนทำลายอีหม่านของตัวเองกับตารางเรียนที่เป็นแบบแผนของตนเองที่บ้านโดยที่เขาเป็นคนที่จัดการตัวเองได้และใฝ่รู้ ที่สำคัญท่านพ่อท่านแม่เขาก็ไม่ได้ ‘อาการหนัก’ นักหนาหากลูกจะตัดสินใจเดินทางที่คนอื่น ๆ เขาไม่เดินกัน ข้าพเจ้าจะแนะนำให้เขาออกถ้าอิสติคอเราะฮฺแล้วได้ผลออกมาทางนั้น แต่สำหรับคนที่เลือกระหว่างการเรียนมหาวิทยาลัยในสภาพที่เขารู้สึกไม่โอเคกับมัน กับการออกไปอยู่บ้านที่ไม่มีแบบแผนชีวิตประจำวันรองรับ มีแนวโน้มสูงว่าจะจัดการตัวเองและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ (บางบ้านนี่อาจทำลายอีหม่านได้มากกว่าอยู่มหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ เช่น ข้างบ้านเปิดเพลงดัง หรือผู้ใหญ่ในบ้านดูทีวีทั้งวัน) และบุพการีของเขาก็ ‘อาการเพียบ’ โคม่าเลยล่ะถ้าลูกตัดสินใจหันหลังให้มหาวิทยาลัย คนที่มีตัวเลือกแบบนี้ ข้าพเจ้าจะแนะนำให้เขาตัดช้อยส์การออกจากมหาวิทยาลัยทิ้งไปเลยนะ แล้วมุ่งหน้าไปยังโจทย์ว่า “จะอยู่อย่างไรให้ได้” ซึ่งจะประหยัดเวลากว่า และเซฟความรู้สึกตัวเองได้มากกว่า
นั่นก็คือว่าทุกคนมีตัวเลือกไม่เหมือนกัน และคุณต้องตัดสินใจตามตัวเลือกที่คุณมี ไม่ใช่ตัวเลือกของชาวบ้าน เท่า ๆ กับที่คุณไม่ควรจะตัดสินการเลือกของชาวบ้านจากตัวเลือกของคุณ การบอกว่า “ทุกคนต้องเรียนมหาวิทยาลัย” ก็ตลกเท่ากับการบอกว่า “ทุกคนต้องออกจากมหาวิทยาลัย” นั่นแหละ ฮิตเลอร์ชะมัดอีกด้วย
ไม่ใช่แค่ช่วยเรื่องการเลือกของปัจเจก แต่การพิจารณาตัวเลือกในท่วงทำนองแบบนี้ยังช่วยเราในการทำความเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ระดับที่ใหญ่ขึ้นไปด้วย อย่างการปฏิวัติที่อียิปต์
ก่อนอื่น…ไม่รู้ว่ามันเป็นวิธีคิดของตะวันตกหรือเปล่านะสำหรับความรู้สึกของคนนี้ว่า เพื่อจะให้สังคมมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามภาพที่มันเป็นจริง เราจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลครอบคลุมทุกด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านที่เราพอใจ (ข้าพเจ้ารู้สึกแบบนี้ตลอดมาตั้งแต่เคยเข้าไปนั่งเรียนในชั้นเรียนที่ก็อปปี้วิธีการคิด/การศึกษาของตะวันตกมา อย่างไรก็ตามตัวเองกลับเชื่อเสมอว่า แท้จริงแล้ววิธีคิดที่พยายามตั้งคำถามและลงลึกไปถึงรายละเอียดอย่างรอบด้าน เป็นวิธีที่ถูกใช้ในการศึกษาของอิสลามมาก่อนตะวันตกเสียอีก) สังคมมุสลิมเรานำเสนอแต่มุมที่อิสลามิคมาก ๆ ของการปฏิวัติ ซึ่งน่าชื่นชมและเกือบจะเป็นวาญิบที่ต้องทำ เพราะเราจะไม่พบการนำเสนอมุมนี้ในสื่ออื่น ๆ แต่ไม่รู้ตัวเองคิดไปเองหรือเปล่า ว่าสังคมมุสลิมพยายามหลีกเลี่ยงที่จะมองไปยังมุมอื่น ๆ ของการปฏิวัติ มุมที่มีเสียงเรียกร้องประชาธิปไตย โหยหาการเลือกตั้ง และเครื่องไม้เครื่องมืออื่น ๆ ที่ไม่ใช่และไม่มีวันใช่แนวทางของอิสลาม (เอาจริง ๆ แล้ว นอกจากอุละมาอฺที่เข้าร่วมขบวนการต่อสู้เป็นการเฉพาะกิจ ยังไม่เห็นแกนนำมวลชนคนไหน และ/หรือ กลุ่มไหนพูดเรื่องระบอบการปกครองอิสลาม หรือคำที่เฉียด ๆ คำนี้ออกมาเลย ถ้าใครมีข้อมูลก็วานช่วยบอกด้วย)
อย่าเพิ่งเขม่นตามองมาอย่างนั้น ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรสนับสนุนขบวนการปฏิวัตินี้ ตรงข้าม เราควรสนับสนุนทุกทางเท่าที่ทำได้ แต่การสนับสนุนนั้นก็สามารถดำเนินไปแม้เรามองการปฏิวัติตามที่มันเป็นจริงนี่ โดยใช้เรื่องตัวเลือกที่ว่าไปนั่นแหละมาช่วยวางจุดยืนให้ตัวเรา คือถึงแม้ขบวนการปฏิวัตินี้จะมีอุดมการณ์อันหลากหลายอุ้มชูมันอยู่ และทิศทางที่มันจะเดินไปสู่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะเป็นทิศทางเดียวกับที่นักเคลื่อนไหวอิสลามทั้งโลกปรารถนา แต่ตัวเลือก ณ จุดที่เกิดเหตุการณ์ก็คือเลือกระหว่างระบอบมุบาร็อกซึ่งอธรรมสุด ๆ แบบที่มองเห็นชัดเจนแจ่มแจ๋วตรงหน้า กับระบอบใหม่ที่จะมาหลังความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรายังไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นอะไร แต่อย่างน้อยก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นระบอบที่สอดคล้อง-สอดคล้องมากขึ้นกับระบอบอิสลาม หรือต่อให้มันถูกเปลี่ยนเป็นระบอบอื่นที่ไม่มีอะไรใช่อิสลามอยู่ดี ก็ยังมีแนวโน้มสูงว่าขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามจะสามารถมีบทบาทได้มากขึ้นกว่าในระบอบมุบาร็อกที่จำกัดการเคลื่อนไหวนี้อย่างทารุณ
ดังนั้นด้วยตัวเลือกแบบนี้ มันก็ชัดเจนว่าทำไมเราถึงให้การสนับสนุนการปฏิวัติครั้งนี้ แม้ว่าเบื้องหลังของมันอาจมีสิ่งเจือปนหลายอย่างนอกเหนือไปจากอุดมการณ์อิสลาม
ไม่รู้นะ สำหรับตัวเอง ด้วยการมองอย่างนี้ มันทำให้เราชัดเจนขึ้นด้วยซ้ำกับจุดยืนและมุมมองที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเรามองแต่มุมว่าการปฏิวัตินี้คือการปฏิวัติที่มีอุดมการณ์อิสลามอยู่เบื้องหลังล้วนและเพียว เราจะต้องเป็นอันมึนงงก่งก๊งแน่ถ้าได้ฟังคำสัมภาษณ์ประชาธิปไตยจ๋าของผู้ชุมนุมระดับแกนนำบางคน และชีวิตคงเผชิญจุดจบที่แทรจิดี้เหลือรับถ้าเกิดว่าระบอบการปกครองที่จะเกิดขึ้นตามมา ไม่ได้มีอะไรใกล้เคียงกับสิ่งที่เราใฝ่ฝันจะเห็นเลย (นะอูซุบิลลาฮิมินซาลิก)
นั่นก็คือตัวอย่างการทำความเข้าใจเรื่องตัวเลือกของชีวิต และคงต้องบอกไว้เสียหน่อยนะคะ ว่าตัวอย่างที่ยกมาในบทความนี้ทั้งหมดใส่ตัวเลือกของแต่ละเหตุการณ์มาเพียงสองช้อยส์ ทว่าหลาย ๆ เหตุการณ์ในชีวิตจริง เรามีตัวเลือกเยอะกว่าสองถม ฉะนั้นลองเปิดมุมมองให้กว้าง ๆ มองหาความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่เราอาจมองข้ามไป ชั่งตัวเลือกของเราภายใต้บริบทของชีวิตเรา และปล่อยให้ชาวบ้านได้พิจารณาตัวเลือกของเขาไปตามบริบทของเขา สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเป้าหมายในการเลือก ต้องเพื่อความพอใจสูงสุดของอัลลอฮฺเท่านั้น ตัวเองเชื่อเสมอนะคะว่า ถ้าเราจริงใจกับเป้าหมายนี้แบบจริงจังสุดแล้ว แต่ความอ่อนแอและความสามารถอันมีสุดจำกัดของเราทำให้เราเลือกผิดไปจากสิ่งที่ควรจะเลือก อินชาอัลลอฮฺ ความเมตตาและการอภัยของพระองค์นั้นกว้างขวางทั่วชั้นฟ้าและแผ่นดิน !
เมื่อไหร่ที่เราพยายามเข้าใจศาสนาของอัลลอฮอย่างจริงจัง ตัวเลือกในทุกๆอย่างก็จะเด่นชัดขึ้นมาเอง
(อดพูดไม่ได้เลยว่าคนเราต้องรู้อย่างถ่องแท้ ปฏิบัติอย่างจริงๆไม่ใช่ครึ่งๆกลางๆในทั้งสองอย่าง)
ปล.ไม่รู้เกี่ยวกันไหมโปรดชี้แนะ ^^
เกี่ยวเว่อร์เลยจ้ะ
และเป็นอีกประเด็นที่เจ๋งมาก
นั่นคือเราต้อง “รู้จัก” และ “เข้าใจ” ตัวเลือกของเราอย่างถี่ถ้วน
(การเข้าใจศาสนาของอัลลอฮฺย่อมเป็นองค์ประกอบของการเข้าใจตัวเลือกอย่างมิต้องสงสัย)
รู้สึกเหมือนย้อนเวลากลับไปสมัยเรียนพาราก ราฟไรท์ติ้ง คาบที่ว่าด้วยการเขียนเอ็กแซมเปิ้ลพารากราฟ อะไรทำนองนั้น (แต่นี่เป็นเวอร์ชั่นจริงจังกับตัวอย่างที่ยกประกอบ จนอยากจะตั้งข้อสังเกตว่าคิดตัวอย่างไว้ก่อนคิดหัวเรื่องหรือหรือเปล่านะ เนี่ย ?)
เรื่องภาพรวมของแนวคิดตัวเลือกที่นำเสนอก็เก็ทนะ ไม่มีอะไรเถียง เอ้ย ถก แต่อยากตั้งข้อสังเกตอะไรเกี่ยวกับตัวอย่างที่ยกมานิดหน่อย
๑- เรื่องออกจากมหาวิทยาลัย (อย่ามาทำบอกว่าสุ่มเสี่ยงอย่างนู้นอย่างนี้เลยน่า เห็นแตะโฉบไปโฉบมาหลายครั้งละ อยากเขียนถึงก็บอกมาตรงๆเลย) ดูเหมือนท่านจะให้น้ำหนักไปทางการพิจารณารายละเอียดของสิ่งที่ออกไปหา มากกว่าสิ่งที่ต้องอยู่กับมันในมหาวิทยาลัยนะ (นึกภาพตราชั่งสองข้างขอคนที่กำลังชั่งเรื่องนี้ ข้าง๑คือน้ำหนักของสิ่งที่ทำให้อยู่หรือพูดง่าย ๆ ว่าอยู่แล้วได้อะไร ส่วนอีกข้างเป็นน้ำหนักของสิ่งที่ทำให้ออกหรือพูดได้ว่าออกแล้วได้อะไร ซึ่งคุณท่านใส่รายละเอียดของตราชั่งอันหลังเยอะมาก (จัดารตัวเองได้ไหม/ใฝ่รู้หรือเปล่า/สิ่งอวดล้อมอำนวยแค่ไหน/บุพการีไม่ต้อง เข้าไอซียูแน่นะ) แต่ตราชั่งฝั่งอยู่กลับไม่ค่อยให้รายละเอียดอะไรเลย) แล้วคำถามของเราอยู่ตรงไหนน่ะ? อ่อ บอกแล้วนี่ มันไม่ใช่คำถาม แต่เป็นข้อสังเกตน่ะจ้ะ
๒- เรื่องปฏิวัติในอียิปต์ (เราก้าวพ้นข้อถกเถียงเรื่องว่าไอ้นี่คือการปฏิวัติไหม? ไอ้นั้นคือการปฏิวัติเปล่า? ไปแล้วใช่มั้ย จะได้ฉลอง) เป็นไปได้ไหมว่าที่มุสลิมเรานำเสนอกันแต่มุมอิสลามิคของการปฏิวัติก็เพราะ เชื่อว่ามุมอื่น ๆ นั้นเราได้รับข้อมูลกันถ้วนทั่วอยู่แล้วจากสื่ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่มุสลิม และอยากจะปรับโฟกัสให้เพ่งเฉพาะจุดที่เป็นแง่งามของเหตุการณ์ ซึ่งจะทำให้เกิด…เอ่อ เรียกว่าอะไรดี “พลังใจ” ก็ได้มั้ง หมายถึงพลังใจร่วมกันของประชาชาติอิสลามน่ะ อะไรทำนองนั้น
เอาเท่านี้ก่อนละกันค่ะ…ก็ถือว่าถกกันเพื่อขยายมุมมองแล้วกันเนอะ การวิเคราะห์อะไรแบบนี้ไม่น่าจะมีถูก-ผิดตายตัวอยู่แล้ว…หรือไง?
ญะซากิลลาฮุค็อยรฺที่มาช่วยตั้งข้อสังเกตเปรี้ยวๆ ให้นะคะ เรื่องการเขียน ก็สำเหนียกเหมือนกันว่าช่วงนี้แแก่ยกตัวอย่างไปสักหน่อย แต่ก็คงไม่ถึงขั้นลิสต์ตัวอย่างไว้ก่อนแล้วหาหัวข้อเหวี่ยงแหคลุมอย่างที่ท่านตั้งขอสังเกคหรอก…มั้งนะ
ต่อขอสังเกตทั้งสองของท่านขอพล่ามดังนี้
๑- เป็นข้อสังเกตที่น่ารักมาก จริง ๆ อยากพูดเรื่องตราชั่งอีกข้าง(ว่าด้วยสิ่งที่เราได้รับจากการเรียนมหาวิทยาลัย)เยอะแยะ แต่เนื้อที่ไม่อำนวย (โดนร้องเรียนเรื่องเขียนบทความยาวเกินทนอ่านมาหลายคราแล้ว) และจริง ๆ (หลายจริงแล้วนะ) กำลังครึ้ม ๆ จะเขียนเรื่องการศึกษาอยู่เหมือนกัน ก็ขอทดเนื้อหาแบบละเอียดไว้ในใจก่อน ไว้เอาข้อมูลไปเทลงบทความที่ว่าอีกที อินชาอัลลอฮฺ
ณ จุด ๆ นี้ขอตอบสรุป ๆ ว่าสิ่งที่แต่ละคนได้รับจากมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกันแน่ และตัวข้าพเจ้าเป็นคนชนิดที่รู้สึก(ไปเอง)ว่าตัวเองมีทางเลือกไง อย่างเรื่องความรู้ซึ่งเป็นข้อเด่นหรานางเอกเลยของการอยู่ในมหาวิทยาลัย รู้สึกว่าการเรียนรู้ในแบบของตัวเองมันได้อะไรเยอะกว่าในห้องเรียนด้วยซ้ำ ด้วยแขนงวิชาที่เรียนด้วย ตัวตนของเราด้าย มันทำให้บางทีรู้สึกฉงนนิดหน่อยเวลาได้ยินคนบอกว่าคุณตัดสินใจเยี่ยงนี้แล้วความรู้ล่ะ จะปล่อยให้มุสลิมโง่เง่าเต่าตุ่นไม่ทันคน-ทันใครรึไง ฟังแล้วแบบว่า…เอ่อ ได้ข่าวว่าข้าพเจ้าออกจากมหาวิทยาลัยนะคะ ไม่ใช่ออกจากการหาความรู้ (คือบางทีเราไม่รู้ตัวจริง ๆ นะว่าตัวเองกำลังตั้งสมการในใจว่า มหาวิทยาลัย = ความรู้ เป็นสิ่งเดียวกัน การปฏิเสธมหา’ลัยคือการปฏิเสธความรู้ แต่สำหรับข้าพเจ้ามันไม่ใช่ไง ไม่ใช่สุดๆไปเลยล่ะ)
แม้แต่เรื่องญะมาอะฮฺ(ชมรม)และการดะอฺวะฮฺ(ซึ่งที่จริงตัวเองให้น้ำหนักมากกว่าเรื่องความรู้อีก) ข้าพเจ้าก้ยังรู้สึกว่าตัวเองมีทางเลือก แบบว่าเราสามารถมีส่วนร่วมในมันได้โดยไม่ต้องเข้าไปแต่งตัว ติดเข็ม และถือบัตรเป็นนิสิตในนั้น ทุกวันนี้ก็ยังติดต่อเพื่อผองน้องพี่ในชมรม ช่วยอะไรได้ก็ช่วย ว่างก็แวะไปหาคนเลี้ยงข้าวบ้าง ส่วนเรื่องดะอฺวะฮฺยิ่งแล้วใหญ่ว่าชีวิตเราทุกวันนี้มีช่องทางให้เลือกทำมหึมามหาศาล
สรุปคือของตัวเองนี่นอกจากตราชั่งด้านออกจะหนักแล้ว ตราชั่งด้านอยู่ยังเบากว่าชาวบ้านเขาอีก อย่างไรก็ขอบคุณท่านมซก.ที่ชี้โพรงให้กระรอกมา อยากบอกอย่างที่ท่านเกริ่นมาทางอ้อมนั่นแหละว่าคนที่คิดเรือ่งนี้ต้องชั่งตราชั่งทั้งสองด้านให้ดี รอบคอบ และรอบด้าน
๒- (เอิ่ม ขอร้องเลย อย่าชวนคุยเรื่องคำว่า “ปฏิวัติ” และนิยามของมัน เรื่องมันจะยาวและยากเกินจำเป็น โอเคนะ) เรื่องที่ว่ามาก็แล้วแต่มุมมองนะ อย่างที่บอกว่าที่พล่ามมาก็เป็นเพียงมุมมองแคบ ๆ ของคน(แคบๆ?)คนเดียว มันอาจดีก็ได้มั้ง…สำหรับบางสถานการณ์ ถ้าเราจะนำเสนอข้อมูลด้านเดียว พอดีตัวเองอยู่ในช่วงสำลักข้อมูลเรื่องนี้ แล้วเนื่องจากต้องอ่านจากหลายแหล่งเกิน ช่วงแรกเลยรู้สึกงงว่าที่โลกแต่ละมุมกำลังพูดถึงนี่มันการปฏิวัติเดียวกันรึเปล่านะ คือรายละเอียดแตกต่างกันเกินรับไหว แต่พอมาทำความเข้าใจอย่างที่บอกในบทความแล้วก็เก็ทขึ้น
ไม่รู้สิ ส่วนตัวชอบมากกว่าที่ตัวเองจะได้รู้ข้อมูลรอบด้าน แล้ววิเคราะห์หาจุดที่เหมาะสมบนพื้นฐานรอบด้านนั้น คือรู้สึกว่าพลังความคิด/ความรู้ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าพลังใจ และออกจะเชื่อว่าพลังใจที่มาจากการได้รู้ถ้วนทั่วน่าจะมั่นคงกว่าพลังแบบที่มาจากการเลือกมองมุมเดียวจากข้อมุลชุดเดียว แต่มันก็เห็นต่างได้เต็มเหยียดแหละเรื่องนี้ ถ้ามีมุมมองอื่น ๆ ก็แลกเปลี่ยนได้ ชอบฟังออกจะตาย มุมมองต่างนี่
วัลลอฮุอะอฺลัม
อ่านไปเจอว่าสนใจจะเขียนเกี่ยวญามาอะฮฺ หรือชมรมในมหาวิทยาลัย เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะเขียน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับตัวผู้ทำงานในญามาอะฮฺ(ชมรม)
หลายคนที่เข้ามาเพราะเหตุการณ์บังคับ
หลายคนที่เข้ามาเพราะอยากเป็นนักกิจกรรม
และคงนี้ไม่พ้นที่หวังในชั่วโมงกิจกรรมของมหาลัยที่ล่อให้เราเสียเป้าหมายให้ได้
ครั้้งหนึ่งในที่ประชุมของชมรม
ทางมหาลัยอยากให้ทางชมรมมุสลิมนำเสนออะไนก็ได้เกี่ยวกับอิสลาม
ในงานสัปดาห์สามศาสนา(อิสลาม คริสต์ พุทธ)
บางคนเสนอว่า
ให้แต่งชุดรายอ(อีด)
และอาหารทางสามจังหวัด เช่น ตูปะ อาก็อก เป็นต้น
เขาเข้าใจว่าเหล่านี้คืออิสลาม
ถ้ามีบทความที่เล่นประเด็นนักทำงานบ้างคงดีไม่น้อย
นักทำงานจะได้ตาสว่างเสียที
อะไรกันแน่ คือ อิสลาม
ป.ล มาอัฟที่ยาวไปหน่อย
การตัดสินใจที่จัเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
หากปราศจากสายตา ที่มองด้วยอิสลาม
สุดท้ายสิ่งที่ถูกเลือกก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป
เป็นเพราะละเลยฐานที่จะต้องนำมาใช้ในการตัดสินใจนี่เอง ถึงทำให้หลายครั้งที่เกิดความผิดพลาดในการตัดสินใจ
ข้อมูลดี
เดี๋ยวนี้ชอบเขียนอะไรยาวๆนะ
ไว้สอบเสร็จแล้วจะเก็บอ่านให้หมด อินชาอัลลอฮฺ
(ไม่ได้เข้ามาเยี่ยมนาน)
อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นการถอดความรุ้สึกจริงๆของตนเองที่เป็นอยู่ณ ทุกวันนี้กำลังหาทางออกกับปัญหาที่ต้องทำงานในระบบมนุษย์เงินเดือน ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปเราผ่านมาได้งัยนี่ และเราจะทนอยุ่ในสภาพอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ บวกลบคูณหารแล้วคิดว่าคงได้คำตอบสุดท้ายที่ไม่ต้องขอตัวช่วย (นอกจากการอนุมัติของผู้เป็นเจ้าของชีวิตเราเท่าน้น)
เพิ่งเข้ามา ตั้งแต่เปลี่ยนเป็นระบบเวิร์ดเพลสสสสสสสสส…! รู้สึกจะห่างไกล และหาทางเข้าไม่เจออยู่บ่อยครั้ง เพราะกับช่องทางที่ไม่คุ้นเคย เลยทำให้สับสนวุ่นวายไม่รู้จะเข้าทางไหนและออกทางไหน เฮ้อ