– แ ผ น ที่ –

 
 
 

การพิจารณาแผนที่เป็นอีกหนึ่งรายละเอียดที่ไม่ควรละเลย
ในการศึกษาและติดตามสถานการณ์โลกและประชาชาติของเรา
ทั้งในเรื่องราวของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
 
 
 
 

ห้องเรียนตัวอักษร (1)

อนที่๑ –  เพิ่มสีสันให้งานเขียนด้วยการใช้คำเปรียบ

 

แม้ว่าระยะนี้จะเป็นระยะวิกฤติของข้าพเจ้าสำหรับการใช้ไวยากรณ์ในงานเขียน ไม่ใช่เพราะรู้สึกคลื่นเหียนกับคาวเลือดในข่าวสารบ้านเมืองตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ทว่าเพราะงานอันถล่มทะลายเข้ามาในโกดังสมองจนระบบการตรวจสอบต่าง ๆ เกิดอาการรวนไปบ้าง กระนั้นก็ดี ข้าพเจ้ายังมีความหาญกล้า ไม่แคร์สื่อมากพอที่จะขออนุญาตเปิดพื้นที่เล็ก ๆ สำหรับพูดเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานเขียนขึ้นมา ณ ที่นี้ เนื่องด้วยมีคำถามเกี่ยวกับการเขียนหลายประการจากพี่น้องหลายคนเข้ามาถึงข้าพเจ้า ไม่ทราบเหมือนกันว่าเหตุใดพี่น้องจึงเข้าใจว่าข้าพเจ้ามีคุณสมบัติมากพอที่จะตอบคำถามเหล่านั้นได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วข้าพเจ้าเป็นบุคคลที่ค่อนข้างจะเฎาะอีฟในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีเป็นอย่างยิ่ง คือนอกจากไม่ค่อยรู้ในบททฤษฎีส่วนมากแล้ว ก็ยังชอบละเมิดในทฤษฎีส่วนน้อยที่ได้รู้อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเห็นว่าการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องทักษะในการเขียนก็ยังมีความจำเป็นอยู่บ้าง และอยู่มากในหลาย ๆ กรณี โดยเฉพาะสำหรับคนที่เลือกใช้ช่องทางนี้เป็นช่องทางหนึ่งในการดะอฺวะฮฺ แน่นอนว่าเจตนาอันบริสุทธิ์ใส และการขอความช่วยเหลือจากผู้ทรงช่วยเหลือจะต้องเป็นจุดเริ่มแรกของงานชนิดนี้ และทุกชนิดของชีวิตเรา ทว่าการฝึกปรือวิทยายุทธิ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มคุณภาพให้งานของเราก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่ไม่ควรจะถูกละทิ้งสำหรับทุกช่องทางการดะอฺวะฮฺรวมถึงการดะอฺวะฮฺผ่านงานเขียนด้วย เพราะงานที่เราจะนำเสนออัลลอฮฺควรเป็นงานที่ประณีตที่สุด และมีคุณภาพคับแก้วที่สุด ว่าดังนั้นแล้วข้าพเจ้าจึงเห็นควรจะพูดคุยถึงเรื่องทักษะต่าง ๆในการเขียนบ้าง เพื่อเพิ่มคุณภาพให้งานเขียนเชิงดะอฺวะฮฺของเรา และเพื่อข้าพเจ้าจะได้สะสางอมานะฮฺที่เกี่ยวเนื่องกับคำถามของพี่น้องให้พ้นผ่านไปด้วย โดยการโยนงานประการนี้เข้าสู่วงแลกเปลี่ยนของเรา (ถ้าเผื่อว่ามันจะมีผู้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน) เพราะลำพังข้าพเจ้าเองถ้าให้พูดไปก็คงจะได้แต่น้ำเป็นส่วนมาก จะหาเนื้อชิ้นโตได้ก็คงจะยากยิ่ง ดังนั้นพี่น้องท่านใดมีอะไรอยากร่วมแลกเปลี่ยนในห้องเรียนเล็ก ๆ นี้ ก็ขอกล่าวสั้นๆ จากใจจริงว่า “ตะฟัฎฎ้อล” (แปลว่า เชิญจ้า)

 

ทั้งนี้หัวข้อที่จะหยิบมาพูดคุยในแต่ละคาบเรียนจะยึดตามอารมณ์ของข้าพเจ้าเป็นสำคัญ (แต่พี่น้องที่มีหัวข้ออยากนำเสนอก็ขอกล่าวว่า ‘ตะฟัฎฎ้อล’ อีกที) และการพูดคุยนี้ก็ไม่ได้จริงจังอะไร อาจคุยแต่ละหัวข้อติด  ๆกันไปเรื่อย ๆ หรืออาจเว้นระยะไปเป็นปีก็แล้วแต่สถานการณ์ ทั้งการเรียงหัวข้อก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักสูตรอะไรนอกจากหลักสูตรมู้ดของข้าพเจ้าเอง สำหรับหัวข้อแรกที่จะพูดคุยในครั้งนี้ คือ หัวข้อที่เกี่ยวกับกลวิธีง่าย ๆ อย่างหนึ่งในการเขียน ซึ่งมีคุณค่าต่องานเขียนมากเหมือนกัน(ถ้าใช้เป็น) ทั้งเป็นกลวิธีที่เราพบมากทั้งในกุรอานและหะดีษด้วย นั่นก็คือการใช้คำเปรียบเปรย

 

 

ตอนที่๑ –  เพิ่มสีสันให้งานเขียนด้วยการใช้คำเปรียบ

 

‘คำเปรียบ’ หรือคำ ‘เปรียบเปรย’ ที่เรากำลังจะพูดถึงกันน่าจะเป็นสิ่งเดียวกับที่ถูกเรียกในหนังสือทั่ว ๆไปด้วยคำว่า ‘อุปมาอุปไมย’ ซึ่งอาจารย์ภาษาไทยย่อมยอมไม่ได้เด็ด ๆ ที่จะปล่อยหัวข้อนี้ผ่านไป โดยไม่เพิ่มเติมให้ชัดเจนลงไปอีกว่าโวหารที่ใช้ในการเปรียบเปรยนี้จะแยกย่อยออกได้เป็น “อุปลักษณ์” ซึ่งคือการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มักมีคำว่า ‘เป็น’ หรือ ‘คือ’ เช่น การละหมาดเป็นเสาหลักของศาสนา ศาสนาคือการตักเตือน ส่วน “อุปมา” คือการเปรียบสิ่งหนึ่งเหมือนอีกสิ่งหนึ่ง มักมีคำว่า ดั่ง ดุจ เหมือน ราว เช่น คล้าย ประหนึ่ง ฯลฯ เช่น คนที่ไม่รำลึกถึงอัลลอฮฺเปรียบเหมือนคนตาย  เวลาเป็นดั่งดาบถ้าท่านไม่ตัดมันมันจะตัดท่าน เอาล่ะ เราจะปล่อยอาจารย์ภาษาไทยทิ้งไว้ในบรรทัดนี้ แล้วหันมาคุยกันเรื่องงานเขียนเชิงดะอฺวะฮฺในสนามจริงซึ่งคงมีคนอ่านน้อยคนมาก ๆ ที่อ่านข้อเขียนของเราแล้วจะมานั่งวิเคราะห์ว่าโวหารที่เราใช้นั้นเข้าข่าย ‘อุปลักษณ์’ หรือ ‘อุปมา’

 

                การใช้ ‘คำเปรียบ’ นอกจากจะเป็นการสร้างสีสันให้งานเขียนไม่จืดชืดเกินไปแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างภาพให้แก่ผู้อ่านด้วยอีกกระทง ดังนั้นสิ่งที่เรานำมาเปรียบควรจะเป็นอะไรที่ให้ภาพและความรู้สึกที่ต้องการสื่อได้อย่างชัดเจน

          สหรัฐฯกับอิสราเอล ก็เหมือนกองอุจจาระกับแมลงวัน อยู่ตรงไหนก็น่ารังเกียจและพึงกำจัด

       น้ำใจของผู้คนยุคปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤติ ปริมาณของมันแห้งขอดลงรวดเร็วพอกับแม่น้ำโขง ส่วนคุณภาพก็ไม่ต่างอะไรกับคลองแสนแสบ

 

ที่จริงแล้วในสังคมทั่ว ๆ ไปก็จะมีคำเปรียบอันเป็นที่รู้กันอยู่มากมาย เช่น “หน้างอเป็นม้าหมากรุก”“ใหญ่โตเหมือนภูเขาเลากา”  “เรียบร้อยเหมือนผ้าที่พับไว้” ฯลฯ คำเปรียบพวกนี้พอพูดปุ๊บคนอ่านก็เข้าใจความหมายได้ปั๊บ แต่ในบางกรณี ถ้าเราสามารถหาคำเปรียบที่แปลกหูแปลกตาออกไปได้บ้าง มันก็จะเพิ่มสีสันให้งานเขียนได้พอสมควร ลองเปรียบเทียบสองประโยคนี้

       ภรรยาที่ดีควรพูดจาให้หวานเหมือนดอกไม้ หรือถ้าอยู่ในภาวะอารมณ์โกรธ อย่างน้อยก็ควรนิ่งไว้ให้เป็นกิ่งไม้ธรรมดา อย่าได้ผุดพรายหนามขึ้นถึงขั้นเป็นกระบองเพชรคอยทิ่มตำเลย

       ภรรยาที่ดีควรพูดจาให้เหมือนน้ำหวานเฮลส์บลูบอย หรือถ้าอยู่ในภาวะอารมณ์บ่จอย อย่างน้อยก็ควรนิ่งไว้ให้เป็นน้ำจืดธรรมดา อย่าได้แอดวานซ์ถึงขั้นแปลงตัวเป็นน้ำปลาเลย

(หมายเหตุ : กรุณาดูกาละและเทศะประกอบการนำเสนอด้วย)

 

                จะเห็นได้ว่าหลายครั้งการใช้คำเปรียบเปรยในงานเขียนไม่จำเป็นต้องใช้คำเชื่อมที่ชัดเจน แต่รูปประโยคจะบอกเซนส์ของการเปรียบเทียบให้ผู้อ่านทราบเอง นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่เรานำมาใช้เปรียบเปรยยังอาจกลายเป็นการให้ความรู้หรือดะอฺวะฮฺไปได้ในตัวด้วย เช่น

          เมื่อเธอเดินอยู่ในหนทางสู่ความรู้ จงเป็นเสมือนลูกหลานของท่านหญิงอาอิชะฮฺ

เมื่อเธอสวมผ้ากันเปื้อนอยู่ในครัว จงเป็นเสมือนลูกหลานของท่านหญิงฟาติมะฮฺ

เมื่อเธอยืนอยู่ต่อหน้าศัตรูของอัลลอฮฺ จงเป็นเสมือนลูกหลานของท่านหญิงนะซีบะฮฺ

เมื่อเธอยื่นมือออกบริจาค จงเป็นเสมือนลูกหลานของท่านหญิงซัยหนับ

เมื่อเธอกำลังเผชิญทางเลือกในการยืนหยัดเพื่อศาสนาของอัลลอฮฺ จงเป็นเสมือนลูกหลานของท่านหญิงสุมัยยะฮฺ

เมื่อเธอเป็นผู้ยืนอยู่เคียงข้างผู้ทำงานรับใช้อิสลาม จงเป็นเสมือนลูกหลานของท่านหญิงคอดีญะฮฺ

เมื่อเธอไกวเปลให้ทหารตัวน้อยๆของอัลลอฮฺ จงเป็นเสมือนลูกหลานของท่านหญิงคอนซาอฺ

ข้อความเหล่านี้แม้จะนับเป็นการให้ และ/หรือ ทบทวนความรู้ไปด้วยในตัว แต่ก็อาจต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ของผู้อ่านในระดับหนึ่ง ว่าซอฮาบียะฮฺแต่ละท่านที่ถูกเอ่ยนามมีประวัติและจุดเด่นตรงไหน การเปรียบเทียบในลักษณะนี้จึงต้องดูกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้รับสารด้วย

 

ลูกเล่นอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับคำเปรียบเปรยคือการใช้เรื่องราวที่เป็นสถานการณ์ปัจจุบัน หรือบุคคลสาธารณะมาเป็นตัวเปรียบ ด้วยคุณสมบัติหรือรายละเอียดอันเป็นที่รู้กัน

          ทุกครั้งที่ฟังอิสราเอลพูดเรื่องเสรีภาพ ฉันรู้สึกคลื้นไส้เหมือนฟังทักษิณพูดว่าตัวเองไม่ได้โกง

–       แม้จะมีอะไรหลายอย่างคล้าย ๆ กัน แต่พิธีกรรมของชีอะฮฺนั้นเพี้ยนยิ่งกว่ามหกรรมการหลั่งเลือดของพวกเสื้อแดงเสียอีก

การใช้คำเปรียบเปรยเช่นนี้จะมีจุดแข็งที่ความน่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงที่เหตุการณ์อันถูกอ้างถึงยังสดใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การเปรียบลักษณะนี้ก็มักจะโรยรารสชาติเหมือนอาหารค้างคืน ซึ่งนับเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่ง สำหรับใครที่ต้องการกำจัดจุดอ่อนประการนี้ ก็อาจเลือกใช้การเปรียบเทียบที่อิงกับสถานการณ์จริง แต่ไม่ขึ้นกับยุคสมัยแทน หมายถึงเป็นเรื่องราว หรือความเป็นไปที่ยังคงเกิดขึ้นทุกยุคสมัย เช่น

                – ทุกครั้งที่ฟังอิสราเอลพูดเรื่องเสรีภาพ ฉันรู้สึกคลื้นไส้เหมือนฟังนักการเมืองไทยพูดว่าจะไม่โกง

 

                อีกลักษณะหนึ่งของคำเปรียบเปรยที่นิยมใช้กันมากโดยทั่วไป แต่อาจต้องระมัดระวังหน่อยหากคิดจะนำมาใช้ในเชิงดะอฺวะฮฺ คือการเปรียบเปรยในลักษณะเสียดสี หรือที่ข้าพเจ้าจะขอเรียกว่า “แบบจิกกัด” ซึ่งถ้านำเสนอดี ๆ มันก็คือการวิพากษ์วิจารณ์สังคม หรือชี้ให้สังคมได้เห็นปัญหา แต่ถ้าพลาดพลั้งไปก็อาจเข้าข่ายพูดอย่างไม่มีฮิกมะฮฺได้เหมือนกัน การเปรียบเทียบเชิงเสียดสีที่ว่านี้ สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยนำสิ่งที่เห็นและเป็นไปในสังคมที่เรารู้สึกว่ามันออกจะเพี้ยน  ๆ มาเป็นตัวเปรียบเปรย

– มุสลิมบางคนเห่อตะวันตกยิ่งกว่าที่คนไทยเห่อหลินปิงเสียอีก

        – เมื่อมุสลิมะฮฺจะออกจากบ้านควรแต่งกายให้รัดกุมมิดชิด มิใช่แต่งองค์ทรงเครื่องราวกับจะไปขึ้นปกนิตยสารของชีอะฮฺฉบับนั้น

               

                จะเห็นได้ว่าการใช้คำเปรียบนั้น หลาย ๆ ครั้งมันก็คือการเอาความรู้ และทัศนคติของผู้เขียนมาสอดแทรกไว้ในบทความอย่างแยบยล ฉะนั้นในฐานะผู้เขียน ข้าพเจ้าคิดว่าเราไม่ควรจะละทิ้งการใช้โวหารประการนี้ที่นอกจากจะเพิ่มสีสันให้งานเขียนแล้ว ยังเป็นกลยุทธิ์ในการเพิ่มความเข้าใจ และเสริมเนื้อหาบางอย่างให้ผู้อ่านได้ด้วย ส่วนในฐานะผู้อ่าน เราก็ควรพิจารณาเนื้อหาต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง เพราะเนื้อหาและทัศนคติน่าอันตรายบางประการอาจถูกสอดแทรกอย่างเนียน ๆ มาในถ้อยคำที่ดูไม่สลักสำคัญอะไร แต่ซึมลึกอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของเราก็เป็นได้

 

                ก่อนจะปิดห้องเรียนทุลักทุเลห้องนี้ ข้าพเจ้าใคร่ขอทิ้งท้ายด้วยการแจกแจงประเภทของคำเปรียบที่พึงหลีกเลี่ยงไว้สักนิดก็แล้วกัน

 

๑- คำเปรียบที่มีรายละเอียดมากเกินไป

                “ความไม่เข้าใจกันระหว่างพี่น้องมุสลิมประหนึ่งหยากไย่สีเทาอ่อนที่กองสุมกันมานานนับสิบปีในมุมอันมืดมิดและอับชื้นของบ้านหลังโตโอฬารที่ไม่มีใครอยู่อาศัยมาแรมเดือน” (>>กว่าคนอ่านจะอ่านจบประโยคเปรียบเทียบก็ลืมไปแล้วว่าเมนไอเดียที่ต้องการจะเปรียบคืออะไร)

 

๒- คำเปรียบที่ไม่เป็นที่รู้จัก

                “ฉันอยากให้มุสลิมทุกคนมีน้ำใจและมองโลกในแง่ดีเหมือนลุงอีซาคนขายโรตีข้างสุเหร่า” (>> แล้วข้าพเจ้าจะรู้จักลุงอีซาอะไรนี่ของท่านไหมคะ? ได้เป็นญาติกันหรือก็เปล่า?)

 

๓- คำเปรียบที่มีลักษณะไม่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับการตีความหรือรสนิยมของแต่ละคน เช่นเรื่องเกี่ยวกับความชอบส่วนตัว

                “มุสลิมะฮฺสามารถจะแต่งตัวสุดฤทธิ์สุดเดชได้เฉพาะก็แต่ต่อหน้าสามีของเธอเท่านั้น ไม่ใช่ในที่สาธารณะ ถึงแม้เธอจะมีรสนิยมการแต่งตัวดีเหมือนมิเชล โอบามาก็ตาม” (>> คนอ่านเช่นข้าพเจ้าที่ไม่เคยเอามิเชล โอบามา มาอยู่รวมหรือแม้แต่อยู่ใกล้เคียงกับคำว่า “รสนิยมดี” ย่อมจะงุนงง สงสัย ไม่เก็ทกับคำเปรียบนี้โดยสิ้นเชิง)

 

๓- คำเปรียบที่ไม่จริง หรือยังไม่รู้ว่าจริงหรือไม่

                “มุสลิมควรมองปัญหาเสื้อเหลือง-เสื้อแดงในฐานะคนนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดใด ประหนึ่งมนุษย์ต่างดาวมองดูความโกลาหลของคนบนโลก” (>> ยังไม่มีใครยืนยันได้เลยว่ามีมนุษย์ต่างดาวจริง)

 

๔-คำเปรียบที่เสียดสีคนอื่นในเรื่องที่ไม่ควรเสียดสี

                “กระแสการดีเบทระหว่างผู้รู้ลุกลามไปเร็วเหมือนกระแสออกนอกมหาวิทยาลัยที่เด็กกลุ่มหนึ่งเคยพยายามสร้าง” (>> เอ่อ อยากจะบอกว่าเรื่องการเสียดสีนั้น มีอะไรที่ต้องระมัดระวังมากเหมือนกัน หลายครั้งการเปรียบเชิงเสียดสีอาจทำให้คนเปรียบนั่นแหละกลายเป็นผู้แลดูตลกไป)

 

๕-คำเปรียบที่บ่อยครั้งเกินไป

               ในบทความชิ้นหนึ่ง ๆ ไม่ควรมีการใช้คำเปรียบเทียบมากเกินไป เพราะมันจะดูละลานตา โดยเรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้เขียนเป็นสำคัญ

 

                คิดไม่ออกแล้ว ก็ขอจบห้องเรียนตัวอักษรคาบแรก ด้วยการเน้นย้ำว่า เจตนาอันบริสุทธิ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใดในการดะอฺวะฮฺทุก ๆ ช่องทาง รวมถึงการดะอฺวะฮฺผ่านงานเขียนนี่ด้วย และแท้จริงแล้ว ทุกความสำเร็จนั้นมาจากอัลลอฮฺ ทุกตัวอักษร ทุกบรรทัด ทุกบทความ  ล้วนบรรลุผลสำเร็จออกมาได้ก็แต่ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ หน้าที่ของเราคือพยายามทำทุกงานอย่างประณีต พิถีพิถันที่สุดเท่านั้นส่วน ผลสำเร็จของงานมิใช่หน้าที่ของเราเลย  ก็หวังว่าห้องเรียนบรรยากาศประหลาด ๆ ห้องนี้จะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้างในการสร้างงานเขียนเชิงดะอฺวะฮฺที่ประณีต และพิถีพิถันมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่เลือกจะทำงานในสนามนี้ อินชาอัลลอฮฺ

– ก่อนที่จะลืมมันไป –

สิ่งหนึ่งที่ ‘ความเป็นผู้ใหญ่’ มักพรากมันไปจากเรา คือมุมมองความคิดแบบเด็ก ๆ  

เวลาเด็ก ๆ มีปัญหาอะไรมาปรึกษา เราจึงมักจะมองในมุมของตน…มุมของคนที่ผ่านปัญหานั้น ๆ มาแล้ว…มุมที่เชื่อว่าเด็ก ๆ จะต้องผ่านมันไป และเข้าใจได้เองเมื่อเขาเติบโตขึ้น เรามักละเลยที่จะลองเอาตัวเองกลับไปใส่ไว้ในวัยเดียวกับเด็กผู้มาปรึกษา แล้วทบทวนดูว่าเราในวัยนั้นอยากรู้อะไร มองโลกอย่างไร  ปัญหาที่เราในวันซึ่งเติบโตขึ้นแล้วมองว่าเป็น‘ปัญหาเด็ก ๆ ชิว ๆ’อาจเป็นปัญหาที่ใหญ่โตเสียเหลือเกินสำหรับเราในวันที่ยังเป็นเด็ก และเมื่อเด็กที่ยังมองว่าเรื่องนั้นใหญ่โตเท่าปลาวาฬนำมันมาปรึกษาหารือ เราก็มักจะมองข้ามความสำคัญของปัญหานั้นไปเพียงเพราะสายตาที่ลดระดับมันเหลือเล็กแค่ปลาซิว  และนั่นทำให้เด็กทุกยุคยังต้องทำท่า‘วัยรุ่นเซ็ง’กับวลีของผู้ใหญ่ที่ว่า‘เดี๋ยวโตขึ้นก็รู้เอง’ เพียงเพื่อจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่พูดวลีนั้นเสียเองในวันหนึ่งข้างหน้า

(แค่บอกปรากฏการณ์ให้ฟัง ไม่ได้ชี้ว่าถูก-ผิดแต่อย่างใด เพราะที่จริงแล้วเนื้อหาของวลีนั้นถูกต้องที่สุดทีเดียว แต่เรื่องที่นำมาใช้นั้น บางทีก็ถูก บางทีก็ผิด ไม่อาจสรุปโดยรวมได้)

 

                ร่ายมาซะยาว แค่อยากจะบอกว่า เผอิญมีช่วงเงียบๆให้นึกย้อนหลังไปเมื่อ 4 ปีก่อน  อันเป็นช่วงปิดเทอมตอนจบมัธยมปลาย แล้วจำได้ว่าตัวเองเคยเสาะแสวงหาแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่ใช่แค่เรื่องคะแนนสอบ เรื่องการเลือกคณะ หรืออะไรตามลำดับขั้นตอนทั่วไป แต่รวมถึงเรื่องการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างมุสลิมที่ดี การทำงานชมรมมุสลิม การต่อสู้กับกฎระเบียบและธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่ไม่สอดคล้องกับอิสลาม  และอีกสารพัดสารเพที่ล้วนอยากรู้ไปทั้งหมดทั้งนั้น

ตอนนั้น…มันเป็นเรื่องใหญ่เสียเหลือเกินแล้วสำหรับเด็กในวัยจบม.ปลายมาหมาด ๆ แต่ตอนนี้…ถ้ามองในมุมตัวเอง ณ ปัจจุบัน มันก็ช่างเป็นเรื่องเล็กกระจิ๊ดนิดเดียวเท่านั้นเองของชีวิต เล็กซะจนอยากจะหัวเราะกับความวอรี่ในอดีต แต่นั่นแหละ…เมื่อลองเอาตัวเองไปใส่ไว้ในวันคืนตอนโน้น ก็พบว่าตัวเองอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ของการเดินเข้าไป และการมีชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยมากจริง ๆ

ว่ากระนั้นแล้ว ในโอกาสที่ได้หวนกลับมาทบทวนช่วงเวลาแสนสั้นช่วงหนึ่งในชีวิตสั้นแสนของตัวเอง ก็จึงขอแจกแจงเรื่องราวต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสายสามัญในสยามประเทศ ที่คิดว่าน้องๆที่กำลังจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมันน่าจะได้รับรู้ล่วงหน้า  เท่าที่คิดออกก็มีดังนี้จ้ะ

 

– ลืมเรื่องระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาของประเทศนี้ไปได้  เราจะยกมันขึ้นหิ้งโดยไม่วิจารณ์ ในฐานะปฏิมากรรมอันน่าสยดสยองแห่งโลกหล้า การบ่นบ้าของเราจะไม่ก่อให้เกิดอะไรนอกจากการผุดขึ้นของข้ออ้างน่าคลื่นเหียนจากบรรดาผู้คิดค้นระบบการคัดเลือก หรือมิฉะนั้นก็การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สิ่งที่เลวร้ายกว่าเดิมในรุ่นต่อไป (รุ่นของตัวเองว่าแย่แล้ว มาเจอรุ่นน้องเดี๋ยวนี้จึงได้พบว่าความเลวร้ายนั้นยังมี‘ขั้นกว่า’เสมอ) ฉะนั้น ถ้าคิดจะเดินเข้ามาในระบบการคัดสรรนี้แล้ว ก็จงดุ่มเดินไปตามกติกาของเขาโดยสงบ แม้เราจะเห็นว่ามันบ๊องๆไปบ้างก็ตาม ปลอบใจตัวเองไปก่อนเถิดว่าระบบอะไรก็ตามถ้าไม่เอาอิสลามเข้ามาจัดการ มันก็ย่อมมีสภาพโอละเห่-โอละพ่อเช่นนี้แล

 

–  เรื่องการสอบคงแนะนำอะไรไม่ทันแล้ว แต่ขอใส่ไว้เล็ก ๆ น้อย ๆ เผื่อน้อง  ๆ รุ่นต่อไปหลงเข้ามาอ่าน โดยรวม ๆ ก็ไม่มีอะไรมาก อ่านพวกหนังสือติวสอบทั่ว ๆ ไปนั่นแหละ แต่ไม่ต้องซีเรียส หักโหม คนนี้มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าข้อสอบของประเทศนี้นั้น ‘ความรู้’ ไม่สำคัญเท่ากับ ‘การทำข้อสอบเป็น’ (มันฟังดูแย่ แต่คือความจริงที่ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแก้ไข) คือรู้ว่าข้อสอบจะออกตรงไหน คำถามแบบนี้ผู้ถามต้องการให้ตอบประมาณใด  ฯลฯ ฉะนั้น ก็อย่าไปอะไรกับมันมากเลย เตรียมเท่าที่ไหว ประมาณตัวเอง และจัดเวลาให้ดี ที่ต้องซีเรียสหน่อยก็คือการทำอิบาดะฮฺและขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺนั่นแหละ มันเป็นอาวุธลับที่เฉพาะเราเท่านั้นที่มี ต่อให้อ่านหนังสือไปมากเท่าไหร่ คนอื่นเขาก็อ่านเหมือนกัน แต่การขอดุอาอฺนั้นมีแต่มุสลิมเท่านั้นที่ทำได้ ว่าแล้วก็อย่าลืมลับอาวุธให้คมในทุกสนามสอบล่ะ

 

– การเลือกคณะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้การสอบ ต่อให้สอบได้คะแนนไม่ค่อยน่าพอใจ แต่ถ้าเลือกคณะเป็นหน่อยก็ยังมีลุ้นได้เสมอ ซึ่งเรื่องนี้อาจต้องไปขอคำปรึกษาจากพี่ ๆ ที่เขาพอจะมีประสบการณ์ประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ตามนั่นคงไม่สำคัญเท่ากับว่าคณะที่เราเลือกนั้น เอื้ออำนวยสำหรับอิสลามของเราหรือเปล่า การสอบไม่ติดไม่ใช่เรื่องน่าอะอูซุบิลละฮฺมากไปกว่าการสอบติดในที่ ๆ จะทำให้เราสูญเสียอิสลามไป ดังนั้นจึงควรตรวจสอบรายละเอียดของแต่ละคณะที่เลือกให้แน่ชัดว่ามีอะไรน่าขนลุกหรือเปล่า เช่น บางคณะมีวิชาบังคับที่ต้องชุดว่ายน้ำเรียน บางคณะที่ต้องเลิกดึกเป็นประจำและถูกผูกขาดการเข้าเรียนโดยนักศึกษาเพศชายไปเสียค่อนคณะก็น่าจะเป็นที่พึงหลีกเลี่ยงสำหรับมุสลิมะฮฺ ฯลฯ  ข้อมูลแบบนี้จะได้มาก็จากการสอบถามจากพี่ ๆ ที่อยู่ตามคณะในมหาวิทยาลัยที่เราสนใจ แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีบางสิ่งแตกต่างกันแม้จะเป็นคณะเดียวกัน และแต่ละคณะก็จะมีบางอย่างแตกต่างกันถึงแม้จะอยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ไม่สามารถพูดเหมารวมไปได้ทั้งหมด สิ่งสำคัญที่สุดในขั้นตอนนี้ก็คือการละหมาดอิสติคอเราะอฺ ให้ผู้ทรงรอบรู้ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทั้งรายละเอียดที่ปรากฏชัดและที่ซ่อนเร้นจากทุกสายตาช่วยเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเรา อินชาอัลลอฮฺ

 

– ช่วงแรก ๆ ของการเริ่มต้นชีวิตเฟรชชี่เป็นช่วงอันตราย ขอจัดระดับไว้ที่สีแดงเพื่อบ่งบอกความวิกฤติ นอกจากมันจะเป็นช่วงเวลาแห่งวัฒนธรรมสุดติงต๊องที่เรียกกันว่า ‘รับน้อง’ แล้ว ยังเป็นช่วงปรับตัวอย่างสำคัญของเหล่าเฟรชชี่ ทั้งในเรื่องเรียน เรื่องเพื่อน และเรื่องการมีชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัย ข้อแนะนำอันดับแรก ๆ คือขอดุอาอฺและมองหาชมรมมุสลิม (บางที่ ชมรมฯอาจกระโจนเข้าหาเราเองโดยไม่ต้องมองหา กรณีนี้ก็ช่วยตอบรับสัมพันธไมตรีจากเขาด้วยความเอื้ออารีด้วยนะจ๊ะ) มีปัญหาอะไรหนักอกหนักใจ มีกิจกรรมอะไรที่คิดว่ามันไม่เหมาะควรกับมุสลิม ให้นำไปโยนไว้ที่ชมรมฯก่อน เชื่ออย่างค่อนข้างมั่นใจว่าพี่ๆในชมรมฯเกือบทุกที่จะต้องพยายามหาทางช่วยน้องๆอย่างเต็มที่แน่นอน อินชาอัลลอฮฺ

 

– ในส่วนของการรับน้อง ต้องบอกก่อนว่าทั้งรูปแบบและความเคร่งครัดนั้นค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับคณะและมหาวิทยาลัยที่เราสังกัดมาก ๆ มันจึงเป็นการยากที่จะพูดถึงโดยรวมๆ เพราะแต่ละที่ แต่ละแห่งก็มีรายละเอียดแตกต่างกันมากอยู่ แต่ถ้าจะต้องพูดในภาพรวมจริงๆ ก็คิดว่ากิจกรรมส่วนใหญ่ในการรับน้อง โดยเฉพาะในห้องเชียร์นั้นเป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยงกับมุสลิมและพึงหลีกเลี่ยงทั้งนั้นแหละ ซึ่งในปฏิบัติการหนีห้องเชียร์นี้ตัวเองคิดว่าในอันดับแรกควรเริ่มต้นที่การอธิบายนะ ชี้แจงให้ผู้รับผิดชอบฟังตามเหตุและผลว่าทำไมเราถึงเข้าร่วมไม่ได้ มีเสียงดนตรี ติดเวลาละหมาด ต้องถูกเนื้อตัวชาย-หญิงอะไรก็ว่าไป ขอให้เชื่อไว้อย่างเลยว่า ถ้าเราเป็นมุสลิมที่ยืนหยัดในหลักการอย่างจริงจังแล้ว บรรดาผู้ปฏิเสธเขาจะเกรงเรา เราไม่ต้องกลัวไม่ต้องเกรงเขาเลย นี่พูดอย่างคนที่อายุเลยวัยปีสี่มาแล้วด้วย คือพวกกิจกรรมห้องเชียร์นั้น อายุสูงสุดของผู้รับผิดชอบก็คือรุ่นปีสี่ ซึ่งที่จริงแล้วก็อายุมากกว่าเฟรชชี่แค่ราวๆ3-4ปี เด็กพวกนี้ไม่ได้มีอำนาจหรือบทบาทอะไรน่ากลัวอย่างที่น้องเฟรชชี่กังวลเลย พวกเขาเป็นแค่เด็กมหา’ลัยที่อายุมากกว่าเราไม่กี่ปี มีความรับผิดชอบมากมายในชีวิตที่ยังเอาตัวไม่ค่อยจะรอด และหลายคนก็ยังมีตัวเลข ในใบเกรดให้เครียดเกือบตายเมื่อออกไปนอกห้องเชียร์ เด็กพวกนี้ไม่อาจและไม่กล้าพอจะรับผิดชอบกับความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ กับศาสนา ที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อนแม้ในสังคมทั่วไปหรอก เชื่อเถอะ ฉะนั้นถ้าเรายืนหยัด เข้มแข็ง และไม่กลัว เขาก็จะไม่กล้ามาต่อต้านอะไรเรามากหรอก อย่างไรก็ตามถ้าอธิบายแล้วไม่เข้าใจ ไม่รับฟัง ก็แนะนำให้หนีเสียให้รู้แล้วรู้รอด ยังไม่เคยเห็นใครต้องออกจากมหา’ลัยเพราะไม่เข้ากิจกรรมห้องเชียร์สักคน

แต่นั่นแหละ เราก็อาจต้องมีดีในตัวระดับหนึ่ง เพื่อพร้อมเผชิญกับมาตรการทางสังคมที่อาจเป็นผลลัพธ์จากการไม่เข้าห้องเชียร์ เช่น บางที่ที่ป่วยหนักๆหน่อย เพื่อน ๆ อาจบอยคอตเรา หรือในกรณีธรรมดา เราก็อาจรู้จักเพื่อนช้ากว่าคนอื่นๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่ปัญหาเลย ถ้าเรามีดีอยู่ในตัวเองถึงระดับที่ไม่ต้องง้อใครมาก ….‘มีดี’นี่หมายรวมได้ทั้งมีดีด้านการเรียน(ซึ่งจะทำให้คนอื่นเข้ามาหาเราเอง) มีความสันโดษที่พร้อมจะอยู่คนเดียวได้ถ้าถูกบอยคอต และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง…มีอัลลอฮฺผู้ซึ่งไม่เคยทอดทิ้งให้บ่าวผู้จงรักภักดีต้องอยู่ลำพัง

 

– กิจกรรมอื่น ๆ ในมหา’ลัยก็จะมีอีกหลายอย่างที่สุ่มเสี่ยงต่ออิสลามของเรา เช่น การเก็บเงินรุ่น(ซึ่งขยันเก็บกันยิ่งกว่าขยันเรียน)ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยกิจกรรมนั้นมีอะไรหลายอย่างขัดกับศาสนาเรา อาทิไปกินเลี้ยงหรือจัดค่ายที่มีของมึนเมาร่วมด้วย ไปทำบุญทางศาสนา ไปจัดนิทรรศการบูชาเจว็ด ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ขอแนะนำให้ใช้หลัก “เข้มแข็งที่สุดในเรื่องที่ต้องแข็ง อ่อนโยนที่สุดในเรื่องที่อ่อนได้” คืออะไรที่เราทำไม่ได้ก็บอกเขาไปเลยว่าทำไม่ได้ ชี้แจงเหตุผลกับเขาดี ๆ ถ้าไม่ฟังก็ช่าง เรายังต้องยืนหยัดในสิ่งที่เราเชื่อ แม้ว่าจะเจอกับอะไรก็ตาม แต่ในเรื่องที่เราทำได้ เราก็จะช่วยเหลือเขาอย่างดีที่สุด อย่างเรื่องเก็บเงิน กิจกรรมไหนที่มันน่ากลัวเราก็ไม่จ่าย แต่กิจกรรมไหนที่มันเคลียร์ว่าทำได้เราก็อาจจ่ายมากกว่าคนอื่น ทบส่วนที่เราไม่ได้จ่ายในกิจกรรมสุ่มเสี่ยงไปด้วย เรื่องอื่น ๆ ก็เหมือนกัน ตรงไหนเป็นจุดยืนต้องแข็งและแสดงให้เห็นโดยทั่วกันว่าเราจะไม่อ่อน แต่ตรงไหนที่เราอ่อนได้ เช่น แสดงความมีน้ำใจในเรื่องทั่ว ๆ ไปของชีวิตประจำวัน เราก็จะอ่อนโยนอย่างที่สุด

 

– การทำงานชมรมมุสลิมยังคงเป็นอีกหนึ่งงานของชีวิตนิสิตนักศึกษาที่ไม่น่าทอดทิ้งหากว่าไม่จำเป็นจริง ๆ รายละเอียดเรื่องนี้มีเยอะแยะมากมาย ซึ่งเคยมีพี่น้องนำเสนอบ้างแล้วตามช่องทางต่างๆ และอันที่จริงมันเป็นเรื่องที่ต้องเข้าไปเผชิญเป็นประสบการณ์ตรงด้วยตัวเองนั่นแหละถึงจะดี

 

– สิ่งสำคัญอีกอย่างในชีวิต ‘มหา’ลัย’ คือการเลือกคบเพื่อน ซึ่งขอยืนยันเลยว่าไม่มีเพื่อนที่ไหน ที่เราสามารถจะไว้ใจ-สนิทใจได้เท่าเพื่อน เท่าพี่น้องในอิสลามอีกแล้ว ดังนั้นเพื่อนและพี่น้องในชมรมมุสลิมฯจึงเป็นบุคคลแรก ๆ ที่เราควรผูกโยงเข้ามาในชีวิตนิสิตนักศึกษาอันแสนสั้น ส่วนเพื่อนในคณะนั้น อย่างไรเสียก็จำเป็นจะต้องผูกมิตรไว้ทั้งด้วยเหตุผลด้านการใช้ชีวิตในมหา’ลัย และการดะอฺวะฮฺ  ซึ่งเราก็ต้องเลือกเหมือนกัน เพราะเด็กเดี๋ยวนี้น่ากลัวอยู่ เห็นอายุน้อย ๆ แต่อาจผ่านโลกในมุมหยาบกร้านมายิ่งกว่าผู้ใหญ่หลาย ๆคน และเด็ก ๆ เหล่านี้ บางคนก็ไม่เคยหยุดยั้งที่จะดึงคนรอบตัวของตนให้เข้าไปสัมผัสโลกมุมกร้านนั้นเสียด้วย อย่างหนึ่งที่น่าจะช่วยได้นอกจากการขอดุอาอฺก็คือการแสดงให้เห็นโดยทั่วกันว่าเราเป็นคนแบบไหน เพราะคนที่เป็นแนวคล้าย ๆ เราก็จะเลือกและถูกเลือกมาคบหากับเราเอง อินชาอัลลอฮฺ มันค่อนข้างเป็นไปได้ยากที่เด็กติดเที่ยว ชอบโดดเรียน จะมาเอาเด็กเรียนไปเป็นเพื่อน คนแบบไหนก็มักชอบที่จะอยู่ร่วมกับคนแบบเดียวกัน

 

– เรื่องชาย-หญิงในสังคมมหา’ลัยอันปะปนคงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพัดผ่านเข้ามาในชีวิตนิสิตนักศึกษาบ้างอย่างยากจะเลี่ยง เคสส่วนมากแล้วเรื่องระหว่างเรากับชนต่างศาสนิกเพศตรงข้ามจะเป็นเรื่องการวางตัวและขอบเขตการใช้ชีวิตร่วมกันมากกว่า ส่วนเรื่องความรู้สึก something special นั้นมักจะเกิดระหว่างมุสลิมด้วยกันในการทำงานชมรมฯ หรืออื่นๆ  ไม่ค่อยมีเคสที่มุสลิมไปมี something special กับชนต่างศาสนิกนะ (ถ้ามีก็ไม่ใช่คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของบทความนี้ล่ะ อินชาอัลลอฮฺ)

ในกรณีแรก ที่ดีที่สุดคือการวางตัวไปตั้งแต่แรกเริ่มเข้าเลยว่าเรามีขอบเขตอย่างนี้ ๆ นะ เราไม่คุยเล่นกับคนต่างเพศ ไม่โดนตัว ไม่นั่งใกล้  ไม่อยู่ตามลำพัง ไม่บลาบลาบลา คนต่างเพศในคณะหรือที่เรียนด้วยกันเขาจะเข้าใจได้เองโดยแทบไม่ต้องพูดเลย ว่ากับคนนี้ เขาจะปฏิบัติได้เท่านี้ (แต่ถ้าเราไม่ได้ ‘แสดง’ ไปตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเพราะลืมตัวหรืออะไรก็ตาม ก็คงต้องอาศัยการ ‘พูด’ กับเขาตรง ๆ แหละ)  การแสดงขอบเขตของตัวเองให้ชัดเจนนี้เราเรียกกันเล่นๆในหมู่เพื่อนฝูงว่า ‘การแผ่อาณาเขต’ คือแสดงอาณาเขตของเราให้ประจักษ์ชัดแก่มนุษยชาติร่วมมหา’ลัย แล้วพวกเขาก็จะรับรู้และไม่ล่วงเกินอาณาเขตของเรา อินชาอัลลอฮฺ (กรณีนี้ร่วมถึงขอบเขตระหว่างเรากับพวกลักเพศด้วย)

ส่วนกรณีที่สองคือเรื่องความรู้สึกฟิตนะฮฺ (วุ่นวาย-วุ่นวายมากๆ)ระหว่างเรากับมุสลิมเพศตรงข้าม  ที่จริงก็มีพี่น้องนำเสนอไปพอสมควรแล้ว แนะนำสั้น ๆ ก็คือ ‘ป้องกัน’โดยการทำกิจกรรมทั้งหมดให้สอดคล้องกับหลักการของอัลลอฮฺ และ ‘แก้ไข’ โดยการหันหน้าเข้าหาอัลลอฮฺ เท่านั้นเอง นอกจากนั้นแล้ว จากประสบการณ์ ส่วนตัว…‘ความไม่ว่าง’ ทั้งด้านภาระหน้าที่การเรียน-การงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง…ด้านความรู้สึก ที่เจ็บปวดกับชีวิตมากมายเวิ่นเว้อจนไม่สามารถจะบรรจุความรู้สึกอื่นใส่ลงไปในชีวิตได้แล้ว ก็สามารถช่วยให้ความรู้สึก something special นี้ ไม่อาจมาแหยมชีวิตในรั้วมหา’ลัยของเราได้เหมือนกัน อินชาอัลลอฮฺ

 

– เรื่องสุดท้ายที่จะพูด (เพราะมันชักจะยาวเกินไปแล้ว) คือเรื่องการเรียนและความรู้ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก(รึเปล่า?) ของการเข้ามาใช้ชีวิตในมหา’ลัยของผองเรา  อยากจะแยกพูดระหว่าง ‘การเรียน’ และ ‘ความรู้’(ที่มีประโยชน์) เพราะถึงแม้ทั้งสองคำจะคาบเกี่ยวจนเกือบจะเป็นเหมือนสิ่งเดียวกัน แต่มันก็ไม่เหมือนกันไปซะทีเดียว โดยเฉพาะในมหา’ลัยที่ไม่ใช่มุสลิม ‘การเรียน’….หลายครั้ง…ก็ไม่ได้นำไปสู่‘ความรู้’ และ‘ความรู้’…หลายครั้ง…ก็ไม่ได้มาจาก‘การเรียน’(ในห้องเรียน)

                เอาเรื่องการเรียนก่อนนะ ที่จริงมันก็พูดภาพรวมยากอยู่ เพราะแต่ละคณะ แต่ละมหา’ลัยก็แตกต่างกันอีก คงต้องบอกก่อนล่ะมั้งว่าประสบการณ์ตรงของคนนี้นั้นคือการเรียนในคณะทางสายศิลป์ เป็นคณะทางภาษา(แต่เลือกเอกค่อนข้างจะไปทางสังคมซะมาก) ในมหา’ลัยแห่งหนึ่งที่คนในประเทศนี้เขามักต่อท้ายว่า‘ยอดนิยม’  ฉะนั้นข้อมูลหลาย ๆ อย่างก็จะมาจากแบ็คกราวนด์ตรงนี้ อย่างแรกที่สำคัญสำหรับการเรียนในมหา’ลัยคือการวางแผน เริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนเลือกเอกที่เรียน ยังไงก็ยังแนะนำให้เลือกเอกที่เราอยากเรียนจริง ๆ หากเอกนั้นไม่มีอะไรสุ่มเสี่ยงต่อความเป็นมุสลิมของเรา คือมันจะมีทฤษฎีบางบทอยู่ที่บอกเลือกเรียนตามความต้องการของสังคม(หรือในหมู่เฮานักทำงานก็ต้องบอกว่า ‘ตามความต้องการของประชาชาติ’)  แต่ตัวเองมองว่าที่จริงประชาชาตินี้มันก็ยังต้องการ ‘คนจริง’ ในทุกสาขานั่นแหละ ที่สำคัญการเรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบมันเป็นเรื่องเลวร้ายสำหรับคนเรียน ที่คนคิดทฤษฎีไม่มาร่วมรับรู้หรอก  (ขนาดตัวเองเรียนในสิ่งที่ชอบ แต่ในบรรยากาศที่เกลียดชัง ยังเกือบตาย เลวร้ายไร้คำบรรยาย) ยกเว้นว่าเราเองก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร หรือเป็นคนที่เรียนอะไรก็ได้ อย่างนั้นก็แล้วแต่จิตศรัทธาละกัน จากนั้นก็ต้องวางแผนการเรียน ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนโดดเรียนบ่อย-บ่อยมาก แต่ไม่เคยโดดเรียนอย่างไร้การวางแผน คือตอนต้นภาคการศึกษาจะเอาคอร์เซเลบัสของแต่ละวิชามากางดูเลยว่าวิชาไหนมีเช็คชื่อ วิชาไหนไม่มี(มักจะเป็นวิชาที่เข้าห้องเรียนอีกทีก็ตอนสอบกลางภาคเลย – _ – ) วิชาไหนมีคะแนนเข้าห้อง วิชาไหนปล่อยฟรี และเนื่องจากคอร์สเซเลบัสของม.ที่เรียนค่อนข้างละเอียด มีระบุเลยว่าคาบนี้จะสอนเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็เลือกเข้าเรียนเฉพาะคาบที่เราสนใจเนื้อหา ส่วนคาบที่ไม่สนก็ไปหาอ่านเอาจากห้องสมุด กำลังจะบอกว่าการเรียนในมหา’ลัยนั้น ถ้าเราเรียน‘เป็น’ ทำข้อสอบ‘เป็น’ และที่สำคัญคือขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺสม่ำเสมอแล้วล่ะก็ การเอาตัวรอดเรื่องการเรียนไม่ใช่งานหนักเลย อินชาอัลลอฮฺ  แต่ก็อย่างที่บอก…นี่ก็พูดจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง คณะอื่นในมหา’ลัยอื่นอาจมีบริบทแตกต่างไป ก็ต้องลองวางแผนดู

                ในส่วน ‘ความรู้’(ย้ำอีกทีว่า…ที่มีประโยชน์)นั้น ตัวเองรู้สึกว่ามันเป็นเป้าหมายหลักของการเข้าไปเรียนในมหา’ลัยของใครหลาย ๆ คน แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงประเด็นนี้อย่างเฉพาะเจาะจงเท่าไหร่ พูดอย่างไม่มีอคติแล้ว…เรื่องความรู้ ไม่ว่าจะผ่านบุคลากรหรือรวมถึงช่องทางและบริการต่างๆที่จะได้มาซึ่งความรู้นั้นน่าจะเป็นเรื่องแรกและอาจเรื่องเดียวที่ตัวเองเห็นด้วยกับคนส่วนมากว่ามหา’ลัยมีชื่อนั้นมีเหนือกว่ามหา’ลัยทั่วไป (ย้ำว่าตัวความรู้ และที่มานะ ไม่ใช่ตัวเด็ก) ก็พูดจากที่ฟังพี่น้องม.อื่นบอกเล่ามาเปรียบเทียบด้วยน่ะ คือบุคลากรในม.ที่ตัวเองเคยเจอ เอาล่ะ เรื่องความรู้คงต้องยกให้เขาไว้ เพราะผ่านการคัดกรองอะไรกันมาจนได้คนที่เขาเชื่อว่าเป็นเกรดต้น ๆ ของประเทศ แต่เรื่องที่ตัวเองค่อนข้างนับถือ คือการเปิดกว้างทางความรู้ของเขา ไม่รู้นะ อันนี้พูดเฉพาะจากที่ตัวเองเจอ อาจารย์ส่วนมากจะเน้นสอนแบบอภิปราย-โต้แย้ง มากกว่าเลคเชอร์ลูกเดียวโดยไม่ให้นักเรียนแสดงความเห็น ทั้งเขาก็ไม่มายด์ด้วยว่าเราจะต้องคิดเหมือนเขา แต่ขอให้ใส่เหตุผลที่มาของความคิดเราให้ชัดเจนมีที่มาที่ไปแล้วกัน เคยเข้าไปสอบวิชาประวัติศาสตร์อเมริกา โดยทั้งข้อสอบมีแต่คำบริภาษอเมริกา ทั้งจิกกัดบ้าง และตรงไปตรงมาบ้าง แต่คะแนนก็ออกมาโอเคเลย อัล-ฮัมดุลิลละฮฺ อีกอย่างก็คือระบบห้องสมุดของเขา เป็นอะไรที่น่าประทับใจ อาจเป็นเพราะตัวเองมาจากโรงเรียนเล็ก ๆ ที่ไม่มีการจัดการห้องสมุดอย่างเป็นระบบด้วยแหละ เลยค่อนข้างตื่นตา ไม่ใช่แค่หนังสือเยอะ-เยอะมาก แต่เขามีการจัดการค่อนข้างดี มีการแยกย่อยห้องสมุดออกไปตามคณะต่างๆ ที่จะเจาะข้อมูลตามแขนงที่เปิดสอนอยู่ในคณะนั้น ๆ และมีหอสมุดใหญ่ของส่วนกลาง มีบริการค้นหนังสือเก่า หนังสือจากห้องสมุดต่างประเทศ และอีกมากมาย ทั้งยังมีมุมอ่านหนังสือหลายแบบซึ่งรวมถึงโต๊ะส่วนตัวที่มีบล็อกสายตาเราจากภายนอกหลบมุมอยู่อย่างน่าหลงใหลให้เลือกจับจองและจับเจ่าอยู่ได้ทั้งวันโดยไร้ใครกวน นี่คือตัวอย่างที่บอกว่าความรู้ในมหา’ลัยไม่ได้มาจากในห้องเรียนเท่านั้น (ดังนั้นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในห้องสมุดมากกว่าในห้องเรียนก็อาจมีความรู้ได้เหมือนกัน อย่าดูถูกไป) อีกอย่างหนึ่งที่ไม่อยากให้พี่น้องนิสิตนักศึกษาคนใดมองผ่าน คือการเรียนรู้ผ่านชีวิตคนรอบตัวเรา โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างพี่น้องมุสลิมร่วมมหา’ลัย ตัวเองจะชอบมากเวลาที่พี่น้องมุสลิมะฮฺในชมรมเปิดประเด็นพูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วคนที่เรียนทางวิทย์ฯก็เอาความรู้ที่ตัวเองเรียนมาอธิบาย ขณะที่คนเรียนทางศิลป์ก็เอาสิ่งที่ตัวเองเรียนมาแสดงความเห็นประกอบ โดยทั้งหมดนั้นขมวดปมกลับเข้าหาอิสลามได้ทุกอย่างและทุกครั้ง นอกจากนั้นในชมรมมุสลิมฯก็ยังมีโปรแกรมความรู้หลาย ๆ อย่างที่น้อง ๆ อาจเข้าไปร่วมให้และรับได้ เช่นการฮะละเกาะฮฺกุรอ่านประจำสัปดาห์ หรือแม้แต่การพูดคุยกันในเรื่องศาสนาตามโอกาสต่างๆที่พบเจอกัน ทั้งหมดนี้ตัวเองนับเป็น ‘ความรู้’ ในรั้วมหา’ลัยที่อยากให้น้อง ๆ ได้ขวนขวายแสวงหาทั้งสิ้น แม้ว่ามันจะไม่ได้อยู่ในห้องเรียนก็ตาม

 

ก็ขอจบห้วงการระลึกถึงช่วงเวลาสั้น ๆ ในรั้วมหา’ลัยไว้แต่เท่านี้ พี่น้องท่านใดที่เคยผ่านหรือกำลังมีชีวิตอยู่ในรั้วที่ทั้งหวานล้นและขมเหลือนี้ มีอะไรอื่น ๆ เพิ่มเติมก็เชิญแลกเปลี่ยนกันได้เต็มที่ เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่พี่น้องท่านอื่นๆ…ก่อนที่การเติบโตขึ้นไปทุกวันจะทำให้เราลืมมันลงไปทุกที…

 

– มีใครบางคนกำลังหัวเราะเรา –

 

อันว่า ‘อัร-ริยาอฺ’ (การโอ้อวด) นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ศรัทธาทุกผู้ทุกนามต้องตรวจสอบตัวเองอย่างสม่ำเสมอ อย่างเอาจริงจัง และอย่างแข็งขัน ยิ่งกว่าที่คตส.ตรวจสอบบัญชีของนักการเมืองเสียอีก ดังนี้แล้ว การกลับมาเขียนถึงโรคภัยสายพันธุ์สามัญประจำหัวใจโรคนี้อีกสักครั้ง ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ และชวนระอาจนเกินไป

หวังใจให้เป็นเช่นนั้น…

 

มีหลายมาตรการทีเดียวที่เราสามารถนำมาใช้เฝ้าระวัง‘โรคใจ’สุดแสนอันตรายประการนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขอดุอาอฺ การออกห่างจากการทำดีเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ และไม่ลดละในการทำดีเมื่ออยู่ลำพัง รวมไปถึงการหาความคิดบางชุด บางอย่าง มาย้ำเตือนหัวใจอันปวกเปียกของตนให้เจียมเนื้อเจียมตัว เป็นต้นว่า การบอกซ้ำย้ำความกับตัวเองสม่ำเสมอว่าทุกความรู้ ความสามารถ และความอะไรต่อมิอะไรที่ดีงามเป็นที่น่าชื่นน่าชมของใครทั้งหลายนั้น มาจากความเมตตาของผู้ทรงเมตตาแต่ทั้งสิ้น หาใช่มาจากความสามารถอันสัปปะรังเคของเราไม่ ฉะนั้นแล้ว อย่าได้บังอาจกระทำการหน้าหนาอวดโอ่ในสิ่งที่ไม่ใช่ของตัวเป็นอันขาด

ทั้งหมดนั่นก็เป็นเรื่อง เป็นกลวิธีที่เราพูดถึงกันไปหลายครั้ง หลายครา ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็แล้วแต่ความเข้มงวดในตัวเอง และความช่วยเหลือจากผู้ทรงช่วยเหลือเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่หัวใจไม่ใคร่จะแข็งแรงนัก หลาย ๆ ความคิดยากจะบิดผันให้กลับไปสู่ที่อยู่อันเหมาะควรได้ ชุดความคิดหนึ่งที่เคยช่วยป้องกันบางการงาน บางหัวใจจากการปนเปื้อนของเจ้าเชื้อโรคชื่อริยาอฺนี้ได้ ก็คือความคิดที่ว่า… “มีใครบางคนกำลังหัวเราะเราอยู่”

 

มันออกจะเป็นความคิดที่แลดูไม่เข้าท่านัก และแอบอิงอยู่กับศาสนาน้อยกว่าชุดความคิดอื่น ๆ ที่เราเคยใช้ก่อร่างเป็นกำแพงใจป้องกันการบุกทะลวงของการริยาอฺ  แต่อยากบอกว่าในหลาย ๆ ครั้ง มันเป็นความคิดที่ใช้การได้ และก่อผลชะงัดนักแก่หัวใจป่วยไข้อ่อนแอ

ย้อนกลับไปที่ปฐมบทการเริ่มต้นความคิดโอ้อวด แน่นอนที่สุดว่ามันเริ่มต้นจากความคิดว่า “สิ่งที่เราทำนั้นดี”ดังนั้น ถ้าเราไม่คิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันดีเสียแล้ว ก็คงยากที่ความคิดโอ้อวดจะผุดพรายขึ้นในใจ  เพราะสิ่งที่เราคิดว่ามันยังไม่ดี ไม่เข้าท่า ก็คงเป็นสิ่งที่เราไม่อยากและไม่อาจจะอวด การตั้งมาตรฐานคำว่า “ดี” ให้สูงสำหรับทุกการงานจึงอาจช่วยได้ในการตัดความคิดที่ว่า “สิ่งที่เราทำนั้นดี” ออกไป  ให้ชุดมาตรฐานอันสูงกว่าไอเอสโอนั้นช่วยสกัดดาวรุ่งไม่ให้เผลอใจปลาบปลื้มกับการกระทำที่ยังไม่เข้าขั้นของตัวเอง

ความคิดที่ว่า “มีใครบางคนหัวเราะเราอยู่” อันหมายถึงใครบางคนนั้นกำลังเห็นอยู่เหมือนกันว่าสิ่งที่เราทำมันยังไม่อาจนับได้ว่าดีหรือแม้แต่เข้าใกล้คำว่าดีด้วยซ้ำ…ก็อาจช่วยตอกย้ำได้ว่า แท้ที่จริงแล้วการงานต่าง ๆ ที่เราทำนั้นมันยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่น่าปรับมากกว่าน่าปลื้ม น่ายี้มากกว่าน่ายิ้ม และคนที่คิดอย่างนั้นก็มีอยู่แน่นอน ถ้าเผื่อว่าเราเป็นคนชอบแคร์ความคิดคนอื่นน่ะนะ

 

มันเป็นเรื่องจริง…และจริงอย่างที่สุด ที่ว่าเราไม่อาจทำอะไรถูกใจใครไปได้เสียทุกคน จะต้องมีใครสักคนในโลกชราภาพใบนี้ที่รู้สึกไม่พอใจ ไม่ปลาบปลื้มเปรมปรีด์ในสิ่งที่เราทำ นั่นก็รวมถึงคุณภาพของการกระทำต่าง  ๆ ที่เรานึกหลงว่าดีงามน่าโอ้อวดเสียนักแล้ว

           ‘งานเขียน’เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการอธิบายประเด็นนี้ให้ละเอียดชัดเจนลงไป  เราอาจเคยวิตกกังวลยามที่นำเสนองานเขียนในที่สาธารณะว่ามันมีความโอ้อวดเข้ามาทำเนียนผสมปนเปอยู่ด้วยหรือเปล่า คนนี้ยังเคยได้รับสารปรึกษาหารือในเรื่องนี้จากพี่น้องบางท่านด้วยตัวเอง จำไม่ได้เหมือนกันว่าตอบสิ่งใดไป แต่กับตัวเองแล้ว มักจะกล่าวสั้น ๆ อย่างคิดเช่นนั้นจริง ๆ ว่า… มันมีอะไรให้โอ้อวดนักหรือ ไอ้งานก่งก๊งชนิดที่เรานำเสนอไป ตลกจะตาย ถ้าคิดว่างานนั้นดีถึงขนาดเอาไปโอ้อวดได้ น่าอายชะมัดอีกด้วย

                จริงล่ะ…อาจมีคนชื่นชมสิ่งที่เราทำ งานที่เราเขียน คำที่เราพูด แต่เชื่อเถอะว่าคนที่ไม่เห็นว่ามันจะมีอะไรน่าชม น่าชื่น ที่เห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาและอาจถึงขั้นควรปรับปรุง…มันก็มี ต้องมีแน่ๆ และคนเหล่านี้ก็จะหัวเราะเยาะเราอย่างขำๆกับการโอ้อวดในผลงานบ้าน ๆ ของตน

 

ลองนึกภาพเหตุการณ์สมมติดังนี้ดู…

‘ญีมญะมะลุน’ เป็นคนที่อ่านหนังสือมามากนัก ศึกษางานเขียนชั้นดีในยุทธจักรมาสารพัน  แล้ว ‘ญีมญะมะลุน’ ก็ได้มาอ่านงานเขียนชิ้นหนึ่ง ที่รู้สึกว่ามันเป็นงานเขียนธรรมดา  ไม่ได้โดดเด่นอะไร เป็นงานคนละชั้น กระดูกคนละเบอร์กับบรรดานักเขียนมือฉมังในบรรณพิภพอย่างแน่นอน เอาล่ะ  ‘ญีมญะมะลุน’ จะเป็นคนดีสักหน่อย ด้วยการคิดว่า ผู้เขียนงานดาษๆชิ้นนี้มีความพยายามที่ดี และน่าจะพัฒนาต่อไปได้อีก แต่แล้ว‘ญีมญะมะลุน’ กลับได้พบคำรำพึงของคนเขียนงานชิ้นนี้ว่า “ชั้นคงต้องหยุดเขียนไว้แต่เท่านี้ก่อน เพราะฉันกลัวเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ของตัวเอง ฉันกลัวการโอ้อวด” คุณคงจะไม่แปลกใจนักใช่ไหม ถ้า‘ญีมญะมะลุน’ จะนึกขึ้นอย่างงงๆโดยไม่ทันห้ามตัวห้ามใจว่า ‘เอ่อ…ขอโทษนะ งานอย่างนี้ยังจะกล้าอวดอีกหรอ?’

‘ฮาอฺฮิมารุน’ก็เหมือนกัน เขาเป็นนักเคลื่อนไหวที่ฟังไฮด์ปาร์กมามากต่อมาก พอจะมีความรู้เรื่ององค์ประกอบต่าง ๆ ของการพูดที่ดีในที่ปะชุมชนอีกด้วย แล้ว‘ฮาอฺฮิมารุน’ก็ได้มาฟังการอภิปรายศาสนาของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งตามความคิดของ‘ฮาอฺฮิมารุน’แล้ว มันเป็นการพูดที่ยังมีข้อบกพร่องต้องปรับปรุงอยู่มาก ห่างไกลกับคำว่ามืออาชีพอยู่หลายขุม ถ้ายังรักจะเอาดีทางนี้คงจะต้องทำงานหนักอีกมากทีเดียว แต่แล้ว ‘ฮาอฺฮิมารุน’ ก็ได้พบคำรำพึงของผู้อภิปรายว่า “ครั้งต่อ ๆ ไป ฉันคงไม่พูดแล้ว เพราะฉันกลัวเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ของตัวเอง ฉันกลัวการโอ้อวด”   อย่าโกรธ ‘ฮาอฺฮิมารุน’ เลย ถ้าเขาจะนึกขึ้นอย่างไม่ทันห้ามตัว ห้ามใจว่า ‘เอ่อ…ขอโทษนะ งานอย่างนี้ยังจะกล้าอวดอีกหรอ?’

แล้วก็จะมีคนที่คิดเช่นนี้อีก ในทุกคราที่คุณกริ่งเกรงว่าจะมีคนมาชื่นชมว่าคุณอ่านกุรอานไพเราะ ทำไมไม่คิดว่าจะมีคนตำหนิว่าการอ่านของคุณยังต้องปรับปรุงอีกมาก  ทุกครั้งที่คุณวิตกจริตว่าจะมีคนชื่นชมในความรู้และความคิดก้าวไกลของคุณ ทำไมไม่คิดว่าคนที่ไม่เห็นด้วยและคิดว่าความคิดนั้นช่างเด็กเสียนี่กระไรมันก็มี ไม่ได้บอกว่าคนอย่าง ‘ญีมญะมะลุน’ หรือ ‘ฮาอฺฮิมารุน’ เป็นคนคิดถูก คิดดี แต่อยากบอกว่าคนเช่นนี้นั้นมี และเขาก็กำลังหัวเราะงานที่เราคิดว่าดีจนถึงขั้นน่ากลัวจะโอ้อวดได้อยู่

 

ถ้าเราเป็นคนที่เอาความคิดมนุษย์เป็นหลักใหญ่ใจความ หวั่นกลัวคำชมของผู้คนถึงขนาดจะหยุดยั้งทำความดีเพราะพวกเขา โปรดเชื่อเถอะว่า คนที่ไม่เห็นว่าสิ่งที่เราทำจะมีอะไรน่าชมก็มีอยู่  เขาอาจนึกปลอบประโลมปลงสังเวชเราอยู่ในใจ หรือเยาะหยันก็ได้ในกรณีที่จิตใจเขาเองก็มีปัญหา แต่คนเหล่านี้จะทำอะไรเราไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ใช่คนที่เอาความคิดมนุษย์เป็นใหญ่ เสียงหัวเราะของเขาเป็นได้แค่เพียงบันไดที่จะทำให้เราปีนตะกายสูงขึ้นไปในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพของทุกงาน ทุกอิบาดะฮฺ แต่ไม่อาจสร้างความเจ็บปวดอะไรให้แก่หัวใจเราได้ เช่นเดียวกับที่คำชมของคนอีกกลุ่มก็ไม่อาจสร้างความลำพองให้หัวใจเราได้เหมือนกัน

คำชื่นชมกับคำตำหนิ….สุดท้ายแล้วก็มีค่าเท่ากัน…ตรงที่ไม่มีค่าอะไรเลย !

 

ฉะนั้น ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังมีปัญหากวนใจจากเชื้อโรคร้ายชื่อริยาอฺ ลองพิจารณาการงานที่คุณคิดว่ามันแทรกซึมเข้ามาอีกสักครั้ง แน่ใจหรือว่าการงานนั้นมันมีอะไรดีถึงขั้นน่าโอ้อวด  เมื่อเทียบกับความเมตตาอันมหึมามหาศาลของผู้ทรงเมตตาที่ต่อให้คุณทำความดีที่ดีที่สุดในชีวิตไปจนตลอดชีวิตก็ไม่อาจทดแทนความเมตตาของพระองค์ได้แม้สักธุลี แล้วยังมีอะไรที่ดีถึงขั้นจะโอ้อวดได้บ้างในชีวิตเรา ไม่มีเลยนะ ไม่มีเลย ทุกการงานของเรายังต่ำกว่ามาตรฐาน และต้องพัฒนาปรับปรุงต่อไปทั้งนั้น

เชื่อถอะว่า การงานที่เราทำนั้นยังไม่มีอะไรดีงามถึงระดับที่จะเอาไปคิดโอ้อวดได้เลย ไม่มีจริงๆ  และก็…น่าหัวเราะที่สุดเชียวล่ะถ้าเราเอาการงานเหล่านั้นไปคิดโอ้อวดได้ลง

 

                ที่เขียนมาทั้งหมดนั้นก็เห็นชัด ๆ ว่ามีข้อชวนส่ายหน้ามากกว่าชวนพยักหงึกๆ แต่ก็จะพยายามปรับปรุงต่อไป แน่ใจเหมือนกันแหละว่าคงมีใครสักคนกำลังหัวเราะข้อเขียนชิ้นนี้  แต่ก็…คงต้องปล่อยให้หัวเราะไป  เสียงหัวเราะนั้นทำอะไรคนนี้ไม่ได้หรอก

                หวังใจให้เป็นเช่นนั้น…

               

 

– สมรภูมิรถเมล์ –

 
 
 
 
 

มันเป็นวันร้ายๆของชีวิตเธอ!

                มัรญาณพึมพำดุอาอฺขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺเกือบตลอดเวลา ขณะยึดมุมหนึ่งของป้ายรถเมล์เป็นสถานพำนักแห่งความอึดอัดใจ เบื้องหน้าเธอคือแถวรถยาวเหยียดตั้งแต่สี่แยกไฟแดงที่เห็นอยู่ลิบๆด้านขวามือมาจนเกือบถึงอีกแยกต่อมาที่อยู่ถัดป้ายรถเมล์ไปทางด้านซ้ายหลายสิบเมตร

ทันทีที่สัญญาณไฟลิบตาทางขวามือเปลี่ยนจากสีแดงเป็นเขียว และขบวนรถใต้หมอกควันสีเทาทยอยไต่ตามกันไป มัรญาณก็ชะโงกหน้าไปทางขวาหวังว่าจะเห็นตัวเลขที่เธอรอคอยปะมาข้างหน้ารถเมล์คันใดคันหนึ่งที่เคลื่อนตัวมาจากสี่แยกทางนั้น แล้วเธอก็ได้เห็นมัน สายรถเมล์ที่จะนำพาเธอไปถึงห้องสอบในวันนี้ได้โดยไม่ต้องไปต่อรถที่ไหนอีก

 

สอบ!  นั่นแหละปัญหาใหญ่ของเธอในวันนี้ ปกติคนที่ชิงชังการเบียดเสียดบนรถเมล์อย่างเธอจะต้องวางแผนการเดินทางอย่างรัดกุมที่สุด เลือกออกจากบ้านในเวลาที่หลีกเลี่ยงชั่วโมงวิกฤติบนท้องถนนอย่างเต็มที่ แถมเผื่อเวลามานั่งเลือกรถเมล์คันที่มีพื้นที่ว่างเพียงพอจะคลายความชิงชังของเธอลงได้บ้าง ทว่าวันนี้นอกจากตารางสอบจะเริ่มต้นในโมงยามที่ยากจะเลี่ยงช่วงวิกฤติแห่งท้องถนนกรุงเทพฯได้แล้ว รถสายที่เธอมองหาแทบทุกคันยังล้วนแออัดยัดเยียดไปด้วยผู้คนชนิดที่แทบจะไม่มีที่ยืนใดให้คนอย่างเธอได้นอกจากบนหลังคา

และมันก็ผ่านมาสามคันแล้ว ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย เมื่อประตูเปิด หัวคนที่แทบจะชนกันบนบันไดรถก็ทำให้เธอเข่าอ่อนจนไม่อาจก้าวขึ้นไปได้ มัรญาณขอดุอาอฺอย่างหนักสำหรับคันที่สี่ที่กำลังเคลื่อนตัวใกล้เข้ามานี้ มือที่กระชับกระเป๋าหนังสือชุ่มไปด้วยเหงื่อจนเธอต้องยกขึ้นมาเช็ดกับกระโปรงพลีทตัวเก่ง แล้วรถคันที่สี่ของเธอก็แล่นเข้ามาเทียบด้านหน้า มัรญาณยกข้อมือขึ้นมาดูนาฬิกา ตัวเลขที่เข็มสีดำชี้ใส่ดวงตาบอกเธอว่า ไม่ว่าประตูที่กำลังจะเปิดขึ้นข้างหน้าจะฉายภาพอะไรให้เธอเห็น เธอก็ต้องก้าวเท้าเข้าไปภายในอย่างไม่มีทางเลือกอีกแล้ว

 

ประตูบานเลื่อนนั้นค่อยๆเปิดออก มัรญาณกือบจะร้องไห้ มันเป็นวันแห่งการทดสอบอย่างแท้จริง คนร่วมป้ายรถเมล์สามคนรุดหน้าไปก่อนเธอเพื่อแย่งชิงที่ยืนบนขั้นบันได เธอรู้สึกคล้ายกับว่าตัวเองลอยตามพวกเขาไปมากกว่าจะเป็นการตั้งใจเดินอย่างรู้ตัว อาแปะแก่ๆเป็นคนสุดท้ายของป้ายรถเมล์นั้นที่ได้ตามหลังเธอขึ้นไปในโรงงานปลากระป๋องเคลื่อนที่  แกคงไม่ได้ตั้งใจจริงๆตอนที่ยึดจับราวบันได แล้วฉวยเอาชายผ้าฮิญาบผืนยาวของมัรญาณติดมือไปด้วย  ศีรษะของเธอเอนไปข้างหลังขณะที่เท้าก้าวไปข้างหน้า

ข้อดีอย่างเดียวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือมันทำให้น้ำตาบ้าๆหยดหนึ่งที่มัรญาณหมดปัญญาจะกลั้นกลับหายเข้าไปในดวงตาตอนที่หน้าถูกทำให้เงยง้ำตามแรงดึง

เธอดึงชายผ้าฮิญาบออกจากมืออาแปะด้วยอาการที่เกือบจะเป็นกระชาก แต่เมื่อมองหน้าตาขอโทษขอโพยของแก มัรญาณก็ได้แต่กัดริมฝีปากเพื่อควบคุมอารมณ์

ในสภาพอารมณ์ที่เกือบจะถึงขีดสุดนั้น มัรญาณยินดียิ่งที่เธอยังไม่ลืมพึมพำดุอาอฺขึ้นยานพาหนะ และมันคงมีผลแน่ๆต่อความเมตตาที่อัลลอฮฺทำให้เธอมองเห็นช่องว่างเล็กๆใกล้ที่นั่งของสาวออฟฟิศคนหนึ่งทางตอนหน้า มันน่าจะใหญ่พอให้เธอปักหลักยืนอยู่ได้ในการเดินทางที่น่าเกลียดชังนี้  และเธอก็กลั้นใจเดินหลบหลีกผู้คนที่กระทบกระทั่งเนื้อตัวเธออย่างไม่ตั้งใจตรงไปยังช่องว่างนั้นด้วยความสามารถทั้งหมดที่มี

 

มันเป็นที่ยืนเล็กแคบที่มัรญาณไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ฎีกาใดใดเพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่ดีกว่า เหมือนนักมวยที่กระโจนเข้ามุมพักเมื่อสัญญาณหมดยกดังขึ้นหลังจากที่ถูกกระหน่ำชกจนแทบน็อกเมื่อยกที่แล้ว  ทว่าเวลาพักระหว่างยกย่อมมีจำกัด เพราะเพียงอึดใจเดียวหลังจากรถเมล์ที่เธอโดยสารเบรกตัวจอดอย่างกระแทกกระทั้นที่ป้ายรถเมล์ต่อไป เด็กหนุ่มในชุดมัธยมที่ตัวโตเหมือนนักกีฬาก็โผล่มายืนขนาบข้างพร้อมด้วยบุรุษออฟฟิศอีกคนที่ยืนใกล้ๆอยู่แต่เดิม เพียงแต่จำนวนคนที่แออัดมากขึ้นบีบบังคับให้ระยะใกล้นั้นกระชั้นเข้ามาอีก

วินาทีนั้นมัรญาณนึกอยากเป็นหอยทาก เพื่อจะได้หดตัวให้เล็กที่สุดเท่าที่จะปลอดภัยจากการสัมผัสต้องตัวกับเพศตรงข้ามแม้พียงผิวเผิน ทว่าเธอก็ไม่ได้และไม่มีวันเป็นหอยทาก เธอเป็นมนุษย์ แถมกำลังอ่อนแอย่างมากด้วย ดังนั้นเมื่อรถเมล์กระชากตัวออก แล้วสีข้างของเด็กหนุ่มมัธยมได้ไถลตามแรงรถมาถูกตัวเธอ น้ำตาหยดเล็กๆก็กระดอนออกมาจากดวงตาของเธออย่างไร้ใครแยแส

หรือเธอดัดจริตไปเองที่คิดมากคิดมายกับการสัมผัสถูกตัวกันโดยไม่ตั้งใจและอยู่ในภาวะจำเป็นเช่นนี้? แล้วที่ถูกเธอควรจะทำอย่างไร? ทำตัวเองให้ชินชาจนไร้ความรู้สึกเจ็บปวด? พยายามมองว่ามันเป็นเรื่องเล็ก?

 

 อย่าพูดเรื่องเตรียมการณ์ล่วงหน้าเลย มัรญาณแน่ใจว่าเธอเตรียมพร้อมที่สุดแล้ว เธอคำนวณเวลาและวางแผนการเดินทางล่วงหน้าเสมอ ขอดุอาอฺก่อนนอนทุกคืนให้การเดินทางที่รออยู่ในรุ่งเช้าเป็นการเดินทางที่ไม่เจ็บปวดสำหรับความเป็นมุสลิมะฮฺของเธอ แต่แน่นอนว่ามันต้องมีสักครั้งหรือหลายครั้งที่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามปรารถนา เช่นครั้งนี้เป็นต้น เชื่อเถอะว่ามุสลิมะฮฺแทบทุกคนที่ต้องเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วนของท้องถนนกรุงเทพฯจะต้องเคยประสบกับการถูกเนื้อต้องตัวกับเพศตรงข้ามบนยานพาหนะสาธารณะอย่างน้อยก็สักครั้ง ถึงแม้จะเตรียมตัวมาดีแค่ไหนก็ตาม มันเป็นความผิดของใคร? และทางออกอยู่ที่ไหน?

อดทน! มัรญาณไม่คิดว่าการกระทำที่ยิ่งใหญ่ถึงขนาดถูกระบุไว้ในอัล-กุรอานหลายต่อหลายตำแหน่งอย่างคำว่า อดทนจะคู่ควรนำมาใช้กับสภาวการณ์ที่น่าชิงชังเช่นนี้  แต่เธอก็ต้องทน ไม่ใช่อดทนหากจำทน เธอจำต้องทนกับมันทั้งๆที่ก็ไม่รู้ว่าทำไม

 

มันเป็นปัญหาที่ดาษดื่นจนแทบไม่มีใครมองว่าเป็นปัญหาอีกแล้ว มุสลิมะฮฺคนไหนที่เผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นนี้ก็ต้องจำทนเจ็บปวดไปแต่ลำพัง หรือไม่ก็พยายามไม่คิดอะไรเพื่อจะได้ไม่ต้องเจ็บปวด เมื่อเราผ่านพ้นวินาทีนี้ไปแล้ว มันก็จะเลยผ่านไป โชคร้ายก็ตรงที่มัรญาณกำลังอยู่ในวินาทีนั้น และเธอก็เจ็บปวดเหลือเกิน

ในวินาทีที่ความบีบคั้นในหัวใจมันเอ่อท้นเท่าๆกับปริมาณน้ำที่ขอบตา มัรญาณอดคิดไม่ได้ว่าบรรดามุสลิมีนที่รายล้อมชีวิตของมุสลิมะฮฺผู้มีวิถีชีวิตเช่นเธอ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ พี่ชาย น้องชาย สามี หรือใครก็ตาม ในขณะที่เขากำลังชื่นชมสนับสนุนบรรดามุสลิมะฮฺที่ยืนหยัดเคร่งครัดอยู่ในมหาวิทยาลัย ในสถานที่ทำงาน หรือในองค์กรอะไรก็ตาม เขาจะจินตนาการออกไหมถึงภาวะบีบคั้นของจิตใจที่มุสลิมะฮฺผู้แสนเก่งกาจเหล่านั้นต้องเจอ  มันเป็นราคาที่พวกเธอต้องจ่ายสำหรับการมีชีวิตอย่างมุสลิมะฮฺคนเก่งในสังคมทุกวันนี้ คนที่มีรถขับอาจไม่ต้องจ่ายราคานี้บนรถประจำทาง แต่ก็ต้องจ่ายในที่ทำงาน ในห้องเรียน ในการประชุม และอีกสารพัดที่ สารพัดสถานการณ์

สำหรับในวินาทีที่กำลังอ่อนแอยิ่งนี้…มัรญาณตอบไม่ได้เลยว่ามันคุ้มหรือเปล่า

 

เธอปรารถนาให้มันเป็นน้ำตาหยดสุดท้ายของวันนี้ สำหรับของเหลวจากดวงตาขณะที่เธอเบียดไหล่นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งตรงประตูรถเพื่อลงมายืนที่ป้ายรถเมล์หน้ามหาวิทยาลัย ถ้าบททดสอบที่เธอพบเจอในเช้าวันนี้จะมีความดีใดอยู่บ้าง มัรญาณขอต่ออัลลอฮฺว่า หากเธอมีลูกสาว อย่าให้แกต้องมาตกอยู่ในสภาพแบบที่เธอเพิ่งผ่านมา…อย่าเลย !

เมื่อถึงป้ายรถเมล์ปลายทางโดยสวัสดิภาพ มัรญาณจึงเพิ่งมีโอกาสแบมือที่กำแน่นมาตลอดทางของเธอออกดู และพบว่ามันขึ้นรอยเล็บจิกจนเป็นริ้วแดง

 

……………………………………………………..

 

มันเป็นวันดีๆของชีวิตเธอ !

มัรญาณนั่งอมยิ้มอยู่ในวงล้อมของน้องๆพร้อมด้วยเพื่อนร่วมรุ่นอีกห้า-หกคน ผู้คนที่เริ่มทยอยมาถึงทำให้บรรยากาศห้องชมรมมุสลิมวันนี้คึกครื้นเสียเหลือเกิน

น้องๆที่รักคะ นี่คือเหล่าพี่ๆบัณฑิตคนแก่ เอ้ยคนเก่งของเรา  เดี๋ยวมาทำความรู้จักกันก่อนนะคะ เสียงรุ่นน้องแม่งานเลี้ยงส่งซีเนียร์ประจำปีเจื้อยแจ้ว

ตากล้องยังไม่มาเลยพี่ ใครบางคนร้องบอก

ไม่เป็นไร รอได้อีกหน่อย มะฮฺมันบ้านไกล เสียงแม่งานค่อนข้างเป็นกังวล แต่ยังหันมายิ้มแก้มปริให้พี่ๆ บัณฑิตปีนี้ วันนี้มีแต่มุสลิมะฮฺนะคะ ขอถ่ายรูปไว้เป็นที่ระทึกสักหน่อย จะสงวนลิขสิทธิ์ไว้เฉพาะพวกเรา ไม่ปล่อยหลุดแน่ค่ะ

มัรญาณสัมผัสได้ถึงกลิ่นไอของความสุข ไม่ใช่ซิ มันน่าจะเป็นความโล่งใจมากกว่า เธอผ่านวันเวลาที่เต็มไปด้วยสุขและทุกข์ในรั้วมหาวิทยาลัยไปได้แล้ว ไม่ว่ามันจะแลกมาด้วยอะไร เธอก็ผ่านมันมาได้แล้ว

 

มะฮฺมาแล้วพี่ รุ่นน้องคนหนึ่งร้องบอก พร้อมๆกับที่เด็กสาวคนหนึ่งโผล่พรวดเข้ามา มัรญาณไม่รู้สึกคุ้นหน้า เป็นไปได้ว่าคงจะเป็นน้องปีหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาหลังจากเธอจบไปแล้ว หน้าตาเจ้าหล่อนค่อนข้างซีดเซียวคงเป็นเพราะรีบร้อนเดินทางมา ยังมีเสียงหอบหายใจปะปนอยู่ในคำให้สลามของเธอด้วยซ้ำ

ขอโทษด้วยค่ะ มาช้าไปหน่อย รอรถตั้งนาน แถมรถติดอีก

ไม่เป็นไรๆ มาช้าดีกว่าไม่มาจ้ะเอาล่ะ ตากล้องมาแล้ว เดี๋ยวเชิญพี่ๆข้างนอกเลยนะคะ น้องๆด้วย ทุกคนเลยนะ มาถ่ายรูปรวมกัน สิ้นเสียงแม่งาน พวกน้องที่ไม่เคยปกปิดอาการบ้ากล้องของตัวเองก็เฮโลลุกขึ้น ขณะที่คนอื่นๆค่อยๆทยอยตามกันออกไป

 

มัรญาณลุกขึ้นเป็นคนท้ายๆ เธออิ่มเต็มในความรู้สึกโปร่งโล่งจนคร้านจะขัดใจน้องๆ เลยยอมไปถ่ายภาพหมู่ทั้งๆที่ปกติไม่ค่อยชอบการถ่ายภาพนัก ถือว่าฉลองให้การผ่านพ้นช่วงชีวิตที่ต้องใช้ความจำทนอย่างมากก็แล้วกัน

นึกได้อย่างนั้น เธอก็ยิ้มกว้างขึ้นอีกก่อนจะเดินตามคนอื่นๆออกไป โดยไม่ทันสังเกตคนที่เพิ่งมาถึงและกำลังจะออกจากห้องเป็นคนสุดท้ายทั้งที่เป็นตากล้อง

เมื่อทุกคนทยอยออกไปหมดแล้ว เธอผู้นั้นจึงเพิ่งมีโอกาสแบมือที่กำแน่นมาตลอดของตนออกดู

…ปรากฎว่ามันขึ้นรอยเล็บจิกจนเป็นริ้วแดง !

……………………………………………………………….