+ แ ม่ กั บ ห นั ง สื อ +

 

-๑-

ช่วงหนึ่ง ฉันเคยเปลี่ยนนามปากกาไปเรื่อย แทบจะหนึ่งนามปากกาต่อหนึ่งชิ้นงาน

ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางใจอันเป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อนเกินอธิบาย

แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่ครั้ง และไม่ว่าผลงานนั้นจะนำไปใช้ในสื่อที่ผิดคาดมากแค่ไหน

จะมีคนหนึ่งเสมอที่รู้ว่าเจ้าของนามปากกานั้นคือฉันเอง

ใช่แล้ว…ก็แม่นั่นแหละ จะใครอีก

แม่มักจะเริ่มต้นด้วยการเอาแหล่งที่พบชิ้นงานนั้นมาอ่านให้ฟัง แล้วถามว่า

“รู้จักเจ้าของนามปากกานี้ไหม”

แค่นั้น ก็เป็นอันว่ารู้กัน ไม่ต้องพูดอะไรอีก

 

-๒-

ภาพที่จำได้แม่นเป็นประจำทุกปีคือภาพที่เรา-ลูกๆ-เดินจับกลุ่มกันในงานสัปดาห์หนังสือตั้งแต่สมัยยังจัดที่คุรุสภา

มีแม่รั้งท้าย เพราะแม่จะแวะบูธที่สนใจนานมากเสมอ

เคยแอบคิดว่าที่จริงแม่แทบจะไม่ต้องซื้อหนังสือพวกนั้นแล้วด้วยซ้ำ เพราะอ่านไปครบทุกหน้าแล้ว

แต่ที่จริงคือแม่อ่านที่งานหนังสือ เพื่อจะเลือกมาให้ลูกอ่านที่บ้านต่างหาก

(ตอนเขียนนี่เพิ่งนึกออกว่าฉันก็ติดวิธีเลือกหนังสือมาจากแม่ (แต่เป็นเฉพาะหนังสือที่เลือกให้ลูก)

คือจะต้องอ่านเองก่อนทุกหน้า อย่างน้อยก็แบบผ่านๆ ถึงจะตัดสินใจซื้อ)

นอกจากกองหนังสือที่ได้กลับมาจากงานหนังสือในแต่ละปีแล้ว ฉันก็แทบนึกไม่ออกว่าเรายังมีกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสืออะไรอีกที่ทำร่วมกัน

แต่แค่นั้นก็เพียงพอให้หนังสือกลายเป็นส่วนประกอบหลักของบ้านเรา (แม้ว่าจะพยายามส่งออกปีละหลายๆลัง)

และเมื่อแม่ไม่ค่อยจะซื้อของเล่นอื่นให้ลูกๆสักเท่าไหร่ ทุกคนก็ไม่มีทางไหนให้หันหน้าเข้าหานอกจากชั้นหนังสือ

ในบรรดาพี่น้องเกือบโหล ฉันพบว่าทุกคนเป็นคนอ่านหนังสือ แตกต่างแนวกันบ้าง แต่ทุกคนอ่านหนังสือ

และ-ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่-หลายๆคน…ยังคงวนเวียนผูกพันอยู่กับงานหนังสือ

 

-๓-

ตอนตีพิมพ์หนังสือของตัวเองครั้งแรก

ฉันไม่ลังเลใจเลยว่าจะให้ใครเขียนคำนิยมให้

ก็อาจผิดระเบียบปฏิบัติของการเขียนคำนิยมทั่วไปอยู่สักหน่อย

ที่ผู้เขียนคำนิยมของฉันไม่ได้เป็นที่รู้จักของใครเลยนอกจากของคนเขียน

แต่ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งดีที่สุดในการตัดสินใจพิมพ์งานของตัวเองครั้งนั้น

ก็บอกได้เลยว่าคือการตัดสินใจให้แม่เขียนคำนิยมให้นั่นแหละ

(จริงๆแล้วก่อนจะมีผลงานรวมเล่ม แม่เคยแอบเอางานที่ฉันเขียนเก็บไว้ไปถ่ายเอกสารให้เพื่อนๆของแม่อ่าน

ตอนนั้นฉันรู้สึกหงุดหงิดใจพอสมควร แม่เสียใจกับความหงุดหงิดนั้น และมันก็ทำให้ฉันรู้สึกผิดจนคิดได้ว่า ควรทำเฉยๆเสียกับการเป็นแม่ยกอย่างออกหน้าออกตาของแม่ คนอื่นจะคิดอย่างไรก็เอาเถอะ ถ้าแม่รู้สึกดีก็น่าจะพอ)

 

ในคำนิยมนั้น แม่เขียนเกริ่นเริ่มต้นไว้ว่า

“ได้ถูกขอให้เขียนคำนิยม ทั้งๆที่เป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ก็รับทำ

อาจเป็นเพราะ…ได้มีโอกาสเห็นผู้เขียนมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก

…ได้เห็นพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย และจิตวิญญาณมาตั้งแต่เล็ก

…ได้เห็นความเป็นนักอ่านตัวยงตั้งแต่เริ่มเรียนอนุบาล

..ได้เห็นแววเป็นนักเขียนตั้งแต่อยู่มัธยม”

เหตุผลทั้ง ๔ ข้อนั้น แม่ได้บอกคนอ่านไปว่า ตัวแม่เองนั่นแหละคือผู้อยู่เบื้องหลัง

 

-๔-

ตอนนี้ ฉันมีโอกาสได้ดูแลสำนักพิมพ์น่ารักอยู่ ๒ แห่ง

ทั้ง ๒ แห่ง นั้นมีแม่เป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้น ทั้งในด้านกำลังใจและกำลังทรัพย์

ฉะนั้นวางใจได้ว่า เวลาที่ทำหนังสือ ฉันพยายามทำให้ดีที่สุดเสมอ เพราะนั่นคือผลงานที่ฉันทำให้แม่ด้วย (พื้นที่โฆษณา โปรดใช้วิจารญาณ 55)

ตอนที่แม่ยังอยู่ ทุกครั้งที่เริ่มทำหนังสือใหม่  ฉันจะเล่าให้แม่ฟังตลอด ถึงที่มา ความคืบหน้า และรายละเอียดต่างๆ

แม่อ่านหนังสือทุกเล่มที่ฉันทำ

ไม่ว่าจะทำในฐานะคนเขียน คนเรียบเรียง หรือบก.  และแม่ก็จะวิจารณ์ตรงๆ ว่าชอบตรงไหน ไม่ชอบตรงไหน

ช่วงที่แม่พูดไม่ได้เพราะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ อันเป็นช่วงท้ายๆ ของชีวิตแม่ แม่ต้องสื่อสารกับคนรอบข้างด้วยการเขียนใส่กระดาษ

ไม่นานมานี้ฉันรือสมุดที่แม่ใช้ในช่วงเวลานั้นขึ้นมาดูใหม่ และพบว่าในนั้นมีรายละเอียดที่แม่เขียนถามถึงหนังสือเล่มใหม่ที่ฉันกำลังทำอยู่ในตอนนั้น

บอกให้รู้ว่านี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับแม่

จริงๆ แล้วทุกเรื่องของลูกๆ ก็ดูจะเป็นเรือ่งสำคัญสำหรับแม่ไปทั้งหมดนั่นแหละ

 

-๕-

หลังจากแม่ไม่อยู่

ฉันเคยคิดว่าตัวเองคงกลับมาเขียนหนังสือใหม่อีกครั้งไม่ได้แล้ว

มีคนแนะนำว่าให้ลองเขียนเรื่องเกี่ยวกับแม่ดูสิ

เมื่อลองทำตามคำแนะนำนั้น…ปรากฏว่าพอไปได้

ทุกเรื่องที่ฉันอยากเล่าล้วนเป็นเรื่องของแม่ เกี่ยวกับแม่ วนเวียนอยู่รอบๆตัวแม่

แม่เคยบอกว่างานเขียนของฉันมีอิทธิพลต่อแม่

ที่จริงแล้วแม่ต่างหากที่มีอิทธิพลต่องานเขียนของฉัน

แม่เคยเป็นเหตุผลให้ฉันเขียนหนังสือ

แม้เมื่อไม่อยู่…แม่ก็ยังเป็นเหตุผลนั้นเสมอ

 

ขอบคุณอัลลลลอฮ์ที่ให้โลกนี้มีหนังสือ

ขอบคุณอัลลอฮ์ที่ให้โลกนี้มีแม่

 

……………………………………….

CR ภาพประกอบ | Internet

ใส่ความเห็น