บนเส้นทางสู่ร่มเงาแห่งอัลกุรอ่าน (2)

 

 

๒-
โปรแกรมท่องจำอัล-กุรอ่าน

ถ้าจะมีสิ่งใดที่สามารถแนะนำให้คนที่รู้สึกรักได้ทำและดีต่อชีวิตของเขา
คงไม่รีรอเลยที่จะแนะนำการท่องจำอัล-กุรอ่าน
(แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึงการท่องจำอัล-กุรอ่านแบบรู้ความหมายเท่านั้น)
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่ชีวิตตัวเองสูญเสียอะไรไปบางอย่าง การท่องจำกุรอ่านนี่แหละที่ตอบโจทย์ทุกอย่างของชีวิตได้ชัดเจนสว่างชัดเหมือนดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน
รู้สึกว่าสิ่งที่เราเสียไปมันคุ้มค่ามากมายกับสิ่งที่เราได้รับ
ที่สำคัญคือการท่องจำอัล-กุรอ่านจะเกี่ยวพันกับระบบการดำเนินชีวิตของเราทั้งชีวิต
เมื่อเราท่องจำอัล-กุรอ่านได้เยอะ เราก็จะยืนละหมาดได้นานขึ้น
อยากละหมาดซุนนะฮฺมากขึ้น และก็จะอยากท่องจำมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก

อายะฮฺกุรอ่านที่เราท่องจำจะผุดขึ้นมาในปรากฏการณ์ต่างๆของชีวิต
มันทำให้ชีวิตของเราโปรยไปด้วยอัล-กุรอ่าน ยิ่งท่องจำเยอะ
ก็ยิ่งมีอายะฮฺที่จะมาใช้อธิบายสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราได้เยอะ
นอกจากนั้นการทำความดี และการทำความผิด
ยังเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการจำและการลืมอัลกุรอ่าน
เมื่อเราหวงแหนอัล-กุรอ่านที่ท่องจำได้เหมือนเจ้าของอูฐที่หวงอูฐของตัว
เราก็จะพยายามหลีกเลี่ยงการทำความผิด เพราะกลัวว่าผู้ให้อัล-กุรอ่านมาอยู่ในอกของเรา
จะเอามันกลับไป

คำถามว่า
“ท่องอัล-กุรอ่านอย่างไรให้จำ” เป็นอะไรที่ตอบง่าย และทำง่ายกว่า “ท่องกุรอ่านอย่างไรไม่ให้ลืม” มาก ๆ เรื่องนี้ใครที่ท่องจำอัล-กุรอ่านย่อมทราบดี
การท่องจำอัล-กุรอ่านจริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย (บิอิซนิลละฮฺ)
ลองอ่านอัลกุรอ่านสักอายะฮฺซ้ำไปซ้ำมาวันละสิบเที่ยวเช้า-เย็น ติดต่อกันสักสิบวัน
จากนั้นหลับตาแล้วพูดอายะฮฺนั้นขึ้นมา แล้วคุณจะพบความมหัศจรรย์ จากนั้นลองทิ้งอายะฮฺนั้นไปอย่างสิ้นเชิงสักสิบวัน
แล้วคุณก็จะได้พบความมหัศจรรย์ในทางกลับกัน

คำถามที่ว่าท่องจำอัลกุรอ่านได้มากเท่าไหร่แล้วจึงเป็นคำถามที่วัดอะไรได้ไม่มากไปกว่า
คำถามว่ากุรอ่านที่ได้ท่องและยังจำอย่างแม่นยำอยู่น่ะมีเท่าไหร่

ฉะนั้นโปรแกรมท่องจำอัล-กุรอ่านที่เราควรจะพูดถึงจึงไม่ได้หมายถึงการท่องจำของใหม่เท่านั้น
แต่ต้องรวมถึงการทบทวนของเก่าด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่าโปรแกรมท่องจำอัล-กุรอ่านนั้นไม่ตายตัวยิ่งกว่าโปรแกรมทำความเข้าใจอัล-กุรอ่านที่ได้กล่าวไปคราวก่อนเสียอีก
แต่ละชีวิตที่คิดจะใส่โปรแกรมนี้ลงไปในชีวิตตนไม่จำเป็นต้องก็อปปี้วิธีการของใครไปแบบเป๊ะๆ
ลองดูตารางชีวิตของตัว ลักษณะการเรียนรู้ที่เป็นที่ง่ายแก่การท่องจำของตัว
แล้วก็คำนวณหาสูตรการท่องจำที่เหมาะกับตัวเอง

ในส่วนของกลวิธีต่าง  ๆ
ในการท่องจำนั้น มีพี่น้องที่เชี่ยวชาญนำเสนอไปพอสมควรแล้ว
ตัวเองก็เคยเขียนถึงที่นี่ แต่ที่จะนำเสนอคราวนี้เป็นเกร็ดเล็ก  ๆ น้อย ๆ ที่คิดออกเพิ่มเติม มันอาจเป็นเพียงแค่โปรแกรมหนึ่งที่ได้รับรู้มา
และพี่น้องหลายคนก็น่าจะรู้และทำอยู่บ้างแล้ว แต่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับอีกบางคน อินชาอัลลอฮฺ

–  สิ่งสำคัญที่สุดของที่สุดก็คือการตั้งเจตนา
เราต้องระลึกเสมอว่าดำรัสที่เรากำลังจะบรรจุไว้ในหัวและหัวใจผ่านการท่องจำนี้เป็นดำรัสของอัลลอฮฺ
ค่าและราคาของมันลิบลิ่ว
หายนะสิ้นดีหากเราจะท่องจำแค่เพียงเพื่อแลกเปลี่ยนกับคำชื่นชมของมนุษย์ซึ่งราคาของมันไม่มียิ่งกว่าไม่มี

– โดยปกติ
คนมักจะเริ่มฮาฟิซจากญุซสามสิบขึ้นมา เพราะเป็นซูเราะฮฺสั้น ๆ ที่ง่ายต่อการท่องจำ
และง่ายต่อการนำไปใช้ในละหมาด อย่างไรก็ตาม
ถ้าพบกลุ่มอายะฮฺที่เราซาบซึ้งยิ่งนักในความหมาย
และอยากนำไปใช้ในละหมาดอย่างยิ่งยวด ก็สามารถลิสต์เป็นรายการท่องจำเฉพาะตัวได้

– ศึกษาตัวเองดูว่าเป็นคนที่ท่องจำง่ายผ่านวิธีอะไร
ฟังหรืออ่าน ถ้าเป็นคนฟังแล้วจำ ก็อาจเปิดฟังอายะฮฺที่ต้องการท่องจำบ่อยๆ
ถ้าอ่านแล้วจำก็ให้อ่านบ่อยๆ แต่ยังไงคนฟังก็ควรเปิดอ่านด้วยเพื่อจะได้รู้ตัวอักษรที่ถูกต้อง
และคนอ่านก็ควรจะเปิดฟังด้วย เพื่อจะได้รู้การออกเสียงที่ถูกต้อง

– ควรกำหนดเวลาสำหรับท่องจำที่แน่นอนให้ตารางชีวิต
และควรเป็นเวลาที่ไม่ยอมเจียดให้สิ่งใดนอกจากกรณีจำเป็นจริงๆ (อยากให้มองเหมือนเป็นวิชาเรียนในตารางเรียนมหาวิทยาลัยเลย
ที่เราเอาเป็นหลักไว้ก่อน แล้วค่อยเอาโปรแกรมอื่นๆ มาปรับไม่ให้ชน)

– ควรกำหนดเป้าหมาย
เช่น เดือนนี้จะท่องจำซูเราะฮฺนี้ หรือส่วนนี้
เพื่อป้องกันความเรื่อยเปื่อยของตัวเอง และควรเป็นเป้าหมายที่ทำได้จริง
มันอาจน้อยมากๆ แต่ขอให้คิดว่าจะทำได้จริงๆ
ดีกว่าตั้งเป้าบรรเจิดเลิศแมนแตนทั้งที่แอบคิดอยู่เหมือนกันว่าคงทำไม่ได้หรอก
เพราะเราจะมีข้ออ้างให้ตัวเองเมื่อทำไม่ได้ว่าก็มันเยอะเกินไป แถมบางคนพอทำไม่ได้ก็จะเสียเซลฟ์
หมดกำลังใจ ในขณะที่อีกบางคนพอทำไม่ได้ ก็กลายเป็นจุดเริ่มให้รู้สึกชินชากับการทำไม่ได้ในครั้งต่อๆไป

– ให้เวลาบางส่วนของโปรแกรมในการทบทวนของเก่าที่เคยท่องจำไปแล้วด้วย
ไม่ใช่ท่องแต่ของใหม่ ฮะฟีเซาะฮฺคนหนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้จัก
จะทบทวนสิ่งที่เธอท่องจำทุกวัน วันละอย่างน้อย
3 ญุซอฺ
กรณีคนที่มักง่วงงุนหลังศุบฮิ์ เวลานี้น่าจะเป็นเวลาที่ดีในการทบทวนของเก่า
เพราะเราไม่จำเป็นต้องอยู่ในท่านั่งเปิดมุศฮัฟอย่างเดียว
(อันง่ายยิ่งต่อการสัปหงก) เราอาจเดินชมนก ชมไม้ ดูท้องฟ้า
ลุกขึ้นยืนแกว่งแขนแกว่งขาไปด้วยบ้างระหว่างท่องของเก่า และแน่นอนว่าการนำไปใช้ในละหมาดยังคงเป็นวิธีที่ดียิ่งสำหรับการทบทวนอัล-กุรอ่านไม่ให้ลืม

– อ่านให้คล่องปากก่อน
แล้วค่อยเริ่มท่องจำ วีธีหนึ่งที่มีคนรู้จักใช้คือ อ่านส่วนที่จะท่องในทุกเวลาหลังละหมาดฟัรฎู
ติดกันไปสักหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นค่อยเริ่มท่องจริง
ซึ่งบางครั้งแทบจะไม่ต้องออกแรงท่องเลย

– ถ้าเป็นไปได้
เมื่อท่องจำส่วนหนึ่ง ๆ แล้ว ควรท่องให้คนอื่นฟังด้วย เช่นเพื่อน
หรือพี่น้องรอบตัว ถ้าได้เป็นคนที่มีความรู้ตัจวีดด้วยยิ่งดี
เขาจะได้ช่วยบอกเราในจุดที่อ่านผิดพลาดไป

– เมื่อท่องจำได้แล้วแม้เพียงสักอายะฮฺ
พยายามทบทวนว่าตัวเราและหัวใจเราได้รับอะไรจากอายะฮฺนี้บ้าง และอย่าลืมเป็นอันขาดที่จะขอบคุณอัลลออฺในทุกอายะฮฺ
ทุกตัวอักษรที่เราท่องจำได้ เพราะเราไม่ได้จำได้ด้วยความสามารถของเรา
ทว่าเป็นความช่วยเหลือและความเมตตาอันหาที่สุดไม่ได้ของอัลลอฮฺโดยแท้

นี่ก็เป็นอีกโปรแกรมหนึ่งที่ขอเชิญชวนให้พี่น้องได้บรรจุมันลงไปในชีวิต
เพื่อดำเนินไปในเส้นทางสู่ร่มเงาแห่งอัลกุรอ่าน…เส้นทางแห่งความร่มรื่นของหัวใจนิจนิรันดร์
อินชาอัลลอฮฺ