– ม ะ ร ะ ข อ งชี วิ ต –

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นานทีปีหน ที่บ้านเราจึงจะมีมะระอยู่ในสำรับอาหาร


สมาชิกบางคนของบ้านใช้ชีวิตบนโลกร่วมยี่สิบปีโดยที่กระเพาะอาหารไม่เคยรู้จักมะระ พูดได้เต็มปากล่ะว่าความคุ้นเคยต่อเจ้าพืชตัวยาวสีเขียวอ่อนนี้ ประการสำคัญก็มาจากบทเรียนสระอะของวิชาภาษาไทยตอนอนุบาลเป็นหลักใหญ่ใจความ


ใครๆ ก็พูดกันนักหนาว่ามะระมันขมปี๋ ฉะนั้นอย่าแปลกใจที่เด็กๆ ผู้เป็นเพื่อนสนิทกับสารพัดลูกกวาดและขนมรสหวานจ๋อย จะประกาศตัวแข็งข้อ ไม่ขอเกี่ยวดองทางหลอดอาหารกับพืชที่สมญานามของมันระบือไกลขนาดนี้ เมื่อเด็กๆ เบือนหน้าหนีทุกทีไป ผู้ใหญ่ก็เลยไม่ค่อยนิยมนำมะระมาทำเป็นอาหารให้ละอ่อนกิน พวกเรากับมะระเลยไม่ค่อยสนิทสนมกันเท่าไหร่ทั้งที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้รู้จักกันดีด้วยซ้ำ


แล้วก็เหมือนของขมๆ อีกสารพัดอย่างบนโลกนี้ ปรากฏว่ามะระมีประโยชน์ทางโภชนาการยาวเหยียดไม่ไหวจะสาธยาย พอโตมาหน่อย ถ้ามีโอกาสได้เข้าสำรับที่มีมะระอยู่ร่วม ผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะเลคเชอร์ประโยชน์อลังการของพืชจอมขมเพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้เยาว์ในวงกลั้นใจลองชิม แต่ว่าผู้ฟังรุ่นๆ สักกี่คนที่จะใส่ใจสุขภาพมากพอจะแลกกับความขมที่ใครๆ พากันเลื่องลือ


เอาล่ะ ยอมรับก็ได้ว่าสมาชิกในบ้านที่กระเพาะอาหารไม่เคยทักทายมะระนั่นน่ะคือตัวฉันเอง จำไม่แม่นนักว่าครั้งแรกที่ทั้งสองได้รู้จักกันอย่างเป็นทางการนั้นมันช่วงไหนแน่ แต่ที่จำแม่นคือ มะระกลายเป็นเรื่องเซอร์ไพร์สเรื่องหนึ่งของชีวิต…มันไม่เห็นจะขมเหมือนที่ใครๆ เขาลือกันเลย  แกงจืดมะระยัดไส้ออกจะซือดะอูมามิ ไม่ใช่ว่ามันปราศจากความขมโดยสิ้นเชิงหรอกนะ แต่กลายเป็นว่า เมื่อปรุงดีๆ  ความขมนั่นแหละที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของความอร่อยลึก


นึกๆ ไป ชีวิตเรามีมะระกันหลายผลเชียว มีเรื่องมากมายที่เรากลัวและกังวลไปก่อน เพียงเพราะเขาบอกต่อๆกันมา ทั้งที่ยังไม่เคยเผชิญหน้ากับมันด้วยตัวเองเลย และก็ทั้งๆ ที่รู้ว่าเรื่องนั้นมันมีความดีงามอยู่ หากแต่เป็นความดีงามที่มาพร้อมกับข่าวลือความขมบางประเภทซึ่งทำให้เรานึกหวาดใจ จนพาลให้อยากหาทางหนีจากเรื่องนั้นๆ ไปโดยไม่ต้องเจอกันซึ่งๆ หน้า


ลึกลงไปกว่านั้น ทำไมเราต้องกลัวความขม? ชีวิตที่มีแต่รสหว๊านหวานมันเป็นชีวิตที่ชวนใฝ่ฝันจริงหรือ? เอาจริงๆ แล้วนอกจากจะเลี่ยนง่ายแล้ว ยังไม่ค่อยดีต่อสุขภาพอีกด้วย


ถ้าพูดถึง “รสชาติชีวิต” ตามคำที่ใคร ๆ มักเปรย ฉันชอบชีวิตที่มีรสขมอ่อน ๆ นะ มันอร่อยดี สนุกและตื่นเต้นออกด้วยที่จะกิน แต่ขอให้เป็นรสขมที่เกิดจากสิ่งทีเราเชื่อว่ามันมีค่าละกัน คือขอให้ได้แน่ใจว่าอะไรขม ๆ ที่ชีวิตกำลังเผชิญอยู่มันเป็นสิ่งที่มีค่าจริง ถ้าเราเอาชีวิตไปขมกับเรื่องชวนหน่ายของชาวดุนยาทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่มีประโยชน์โภคผลถาวรใด เช่นทำงานงก ๆ (ยิ่งทำยิ่งงก) สายตัวแทบขาด เพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน เงิน และเงิน กระทั่งต้องละเลยอิบาดะฮฺหลักบางอย่างทั้งที่มันคือที่มาของปัจจัยยังชีพที่แท้จริง แบบนี้มันไม่ใช่ความขมของมะระ แต่เป็นความขมของขี้เถ้า ขมฟรี ๆ ไม่มีประโยชน์อะไร


และไม่ว่าจะชอบรสขมหรือไม่ ให้ยังไง ชีวิตของผู้ศรัทธาก็ต้องได้ลองลิ้มชิมรสมันแบบจัดหนักอยู่ดี เกือบจะเรียกได้ว่ามันเป็นเส้นทาง ใครที่ก้าวไปบนทางนี้ต้องเจอแหงแซะอยู่แล้ว รสขมปร่านี่ เพียงแต่จะขมในระดับใดและยาวนานแค่ไหนต่างหากที่อาจต่างกัน นั่นก็เพราะความหอมหวานที่รออยู่ในเส้นทางข้างหน้ามันเป็นของแพง เป็นความหวานหอมลึกล้ำ ไม่ใช่หวานเลี่ยน ๆ แบบที่เราอาจได้เคยพบในโลกนี้ เป็นหวานแบบที่ตาไม่เคยเห็น หูไม่เคยได้ยิน หัวใจไม่เคยสัมผัส และทุกเส้นประสาทไม่อาจจินตนาการถึง เป็นรางวัลชิ้นใหญ่ที่ราคาของมันไม่ใช่ถูก ๆ  ฝันเฟื่องแล้วไหมถ้าคิดว่าจะได้ความหวานแสนหวานนี้มาโดยที่ไม่ต้องแลกกับความขมใดเลย


ใช่แหละ บางทีความขมที่ได้ชิมมันก็ขมเข้มเสียจนขื่นคอ แต่ถ้าได้พิจารณาถึงรางวัลที่รออยู่แล้ว เชื่อว่าผู้ศรัทธาทุกคนจะชิมมันได้อย่างอดทน หรืออย่างเปรมปรีดิ์ด้วยซ้ำสำหรับบางคนที่อัลลอฮฺให้หัวใจเขารื่นรมย์พอ


แล้วหัวใจมันจะรื่นรมย์พอสำหรับลองลิ้มชิมความขมได้ด้วยเครื่องมืออื่นใดอีกเล่า นอกจากการได้เข้าหาผู้สร้างชีวิตเรามาอย่างหลากรสหลายสี อัลลอฮฺใจดีที่สุดเลย ทั้งที่ให้คุณค่ามหึมามากับความขมนี้แล้ว พระองค์ก็ยังให้ในความขมมันมีความหวาน มีความอร่อยล้ำอยู่ด้วย เมื่อเราประจักษ์ว่าไม่มีใครจะช่วยเราในรสขมที่กำลังกัดกินชีวิติอยู่ได้นอกจากอัลลอฮฺ ความขมขื่นสอนเราบทแล้วบทเล่าว่ามีแต่อัลลลอฮฺเท่านั้นจริงๆ ที่จะปัดเป่าทุกความทุกข์ยากให้พ้นไปได้ และการได้เอาความขมเข้าฟ้องร้องต่อพระองค์ ร้องไห้สะอึกสะอื้น บอกกับพระองค์ทุกสิ่งทุกเรื่องของหัวใจ นี่ต่างหาก…ความหวานที่แท้จริงของโลกที่ไม่มีอะไรจริงแท้ใบนี้


มะระของผู้ศรัทธาอาจขมเข้มกว่าคนทั่วไป เพราะประโยชน์ที่จะได้มันมหึมากว่ากันเยอะ แต่ขอให้ได้ลองละเลียดมันอย่างมีสติ อย่ากลัวไปก่อนที่จะได้ลงมือชิมเอง บางทีมันก็ไม่ได้ขมอย่างที่หวั่น และถึงขมจริงขมจัด บางทีความขมก็อร่อยกว่าที่เราคิด


ต่อหน้าคนอื่นเราอาจทำท่าเป็นผู้ใหญ่แสนสุขุมที่รับมือกับมะระสุดขมได้อย่างสงบเสงี่ยม แต่ต่อหน้าอัลลอฮฺ… มันอร่อยจริงๆ ที่เราจะได้เป็นเพียงเด็กเล็กๆ ที่บอกเล่าทุกความรู้สึกแห่งความขมให้พระองค์ฟัง


ต่อหน้าคนอื่นเราจะเป็นผู้ใหญ่แค่ไหนก็ได้ แต่ต่อหน้าอัลลอฮฺ…มันอร่อยจริงๆ ที่จะได้เป็นเด็กขี้แย ขี้ฟ้อง และขี้ขอเหลือรับ


…มันอร่อยเสียจนหากห่างหายกันไปหลายมื้อ เราก็อาจถึงกับต้องมองหาและรอคอยว่าเมื่อไหร่จะมีมะระโผล่เข้ามาในสำรับชีวิตอีกครั้ง !

………………………………….

(จากหนังสือรวมบทความ อย่าท้อถอยสร้อยเศร้าเลยเจ้าเอย ฉบับพิมพ์ครั้งที่๑ มกราคม ๒๕๕๕)

~ ยั ง มี เ ร า ะ ม ะ ฎ อ น ~


เหมือนมันคือมหกรรมแห่งความหวังประจำปี
ไม่ว่าที่ผ่านมาจะคืออะไร ที่รออยู่ข้างหน้าจะหนักหนาแค่ไหน
ก็ไม่เป็นไรหรอกคนดี…เพราะเรายังมีเราะมะฎอน


ช่วงชีวิตที่ผ่านมาจะร้อนแล้งสักแค่ไหน…ก็ยังมีเราะมะฎอนให้เป็นร่มเงา
แบตเตอรี่หัวใจจะอ่อนแรงลงสักแค่ไหน….ก็ยังมีเราะมะฎอนให้เติมพลัง
อิบาดะฮฺจะไร้ชีวิตชีวามาสักแค่ไหน…ก็ยังมีเราะมะฎอนให้รดน้ำ
ความผิดที่ผ่านมาจะมากมายสักแค่ไหน….ก็ยังมีเราะมะฎอนให้ขออภัยและกลับตัว
บททดสอบที่เจออยู่จะขมสักแค่ไหน….ก็ยังมีเราะมะฎอนให้ดื่มด่ำความชื่นหวาน
ปัญหาที่ดาหน้าเข้ามาจะสับสนสักแค่ไหน…ก็ยังมีเราะมะฎอนให้ค่อยทบทวนคลี่คลาย
สิ่งที่มุ่งหวังจะริบหรี่สักแค่ไหน…ก็ยังมีเราะมะฎอนให้วอนขอ
เส้นทางที่รออยู่ข้างหน้าจะดูยากเย็นสักแค่ไหน…ก็ยังมีเราะมะฎอนให้เก็บเกี่ยวความเชื่อมั่น
ความสนิทสนมกับอัลกุรอานจะเคยห่างเหินสักแค่ไหน…ก็ยังมีเราะมะฎอนให้ได้กระชับตีซี้
สายสัมพันธ์ระหว่างเรากับเจ้าของชีวิตจะหย่อนคลายมาสักแค่ไหน…ก็ยังมีเราะมะฎอนให้จรดศีรษะลงแล้วบอกว่าบ่าวกลับมาแล้ว


กลับมาแล้ว…ยอมแล้ว และก็จำนนแล้ว ต่อความเมตตายิ่งใหญ่ของพระองค์
กลับมาและก็จะไม่กลับไปสู่การหลงทางอ้างว้างอีกต่อไป…ขอพระองค์โปรดช่วยด้วย


ยิ่งใหญ่ที่สุดเลยเนอะ…ความเมตตาของอัลลอฮฺที่มีต่อชีวิตของปวงบ่าว
ทั้งที่เราเนรคุณไม่รู้จักเท่าไหร่ ดื้อดึงแสนรั้นก็เท่านั้น
พระองค์ก็ยังใจดีให้เราได้พบกับโมงยามแห่งความปรานี
เดือนอบอุ่นแสนดีที่ทุกวินาทีอวลไอไปด้วยความชื่นเย็น


…เหมือนมันเป็นมหกรรมแห่งความหวังประจำปี
ไม่ว่าที่ผ่านมาจะหนักหนาแค่ไหน ที่รออยู่ข้างหน้าจะเป็นอะไร
มันก็ช่างแสนดี…ที่เรายังมีเราะมะฎอน

ชะอฺบาน | เดือนแห่งการรดน้ำ

شَهْرُ رَجَبٍ شَهْرُ الزَّرْعِ
وَشَهْرُ شَعْبَانَ شَهْرُ سَقْيِ الزَّرْعِ
وَشَهْرُ رَمَضَانَ شَهْرُ حَصَادِ الزَّرْعِ
وَمَنْ لَمْ يَزْرَعْ وَيُغْرَسْ فِيْ رَجَب وَلَمْ يَسْقِ فِي شَعْبَان…
فَكَيْفَ يُرِيْدُ أَنْ يَحْصَدَ فِي رَمَضَان

“เราะญับคือเดือนแห่งการเพาะหว่าน
ชะอฺบาน
คือเดือนแห่งการรดน้ำ
และเราะมะฎอนคือเดือนแห่งการเก็บเกี่ยว
…แล้วคนที่ไม่ได้หว่านเพาะในเราะญับ และไม่ได้รดน้ำในชะอฺบาน
เขาจะหวังเก็บเกี่ยวผลผลิตในเราะมะฎอนได้อย่างไร”
[อบูบักร อัลบัลคี]

ความน่ารักอย่าง1 ของการปลูกต้นไม้คือ…เราต้องลงแรงกับมัน
คำว่า “ลงแรง” นี่ หลายครั้งหมายรวมถึงทั้งแรงกายและแรงใจ คนเพาะปลูกที่มีสติพอย่อมไม่คาดหวังจะเห็นต้นไม้งอกขึ้นมาเป็นต้นทันตาพร้อมผลพรึ่บพรั่บโดยทีเราไม่ต้องทำอะไรเลย ลึกลงไปกว่าข้อเท็จจริงที่ว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ เราพบว่าที่การปลูกต้นไม้ต้องใช้ความทุ่มเทและทำงานก่อนเห็นผลนั้นมันทั้งท้าทาย และวัดว่าในหมู่ผู้อยากสอยผลสุกปลั่ง…ใครคือตัวจริงที่คู่ควร


ถ้าคนเพาะปลูกทุกคนได้ผลไม้มาง่ายดายโดยไม่ต้องทุ่มเทตั้งแต่คัดเมล็ดพันธ์และเฝ้ารดน้ำ คนปลูกทุกคนก็คงมีสถานะเท่าเทียมกันไม่ว่าเขาจะให้ใจกับผลไม้นี้มาก-น้อยต่างกันเท่าใด ตรงกันข้าม เมื่อกว่าจะได้ผลต้องอาศัยเหงื่องานและความใส่ใจ ผลไม้จึงสามารถตระหนักได้ว่าใครคือคนปลูกที่รักจริงและสมควรแก่การงอกเงยมาเป็นผลอวบอ้วนให้ลิ้มรส


เมื่อเราหวังอยากเห็นผลแห่งเราะมะฎอนที่งามสะพรั่ง เราก็ควรจะใส่ใจรดน้ำพรวนดินอย่างพิถีพิถัน โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการงอกของผลไม้ที่เรารอคอยมาตลอดทั้งปี…ใครที่รดน้ำต้นไม้เป็นประจำย่อมทราบว่า การรดน้ำต้นไม้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องการความสม่ำเสมอ ไม่ใช่รดวันเดียวหายไปสามวัน พรรค์นั้นผลลัพธ์ก็จะไม่พ้นความแห้งเหี่ยว ไม่ก็เอวัง ไม่พบดอกผลอะไรงอกงามออกมาเลย


ที่น่าคิดอีกอย่างก็คือ สำหรับคนที่ปลูกต้นไม้ แม้เป้าหมายสุดท้ายของเขาจะคือการรอเก็บเกี่ยวเห็นผล แต่ที่จริงแล้วในระหว่างขั้นตอนการดูแลต้นไม้ รดน้ำ พรวนดิน…มันก็คือความสุข  สำหรับคนที่รักต้นไม้ ทุกภารกิจที่เกี่ยวข้องกับมันก็ย่อมเป็นความละมุนใจ  เช่นเดียวกับคนที่รักเราะมะฎอน การเตรียมตัวเพื่อต้อนรับเราะมะฎอนไม่ใช่เพียงสิ่งที่ต้องทำเพื่อผลที่อยากพบเมื่อเดือนแห่งการรอคอยนี้มาถึงจริง ทว่ากิจกรรมต่างๆ ที่เราได้ทำในช่วงเตรียมการ ไมว่าจะเป็นการอ่านอัลกุรอาน ถือศีลอด ละหมาดกิยามุลลัยล์ ไปจนถึงศึกษาเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเราะมะฎอน มันคือสิ่งที่ให้ความสุขแก่เราด้วยในตัว หัวใจของคนที่โหยหาเราะมะฎอนจริงๆ จึงไม่ต้องอาศัยการบีบบังคับอะไรเลยสำหรับการเตรียมตัวเตรียมหัวใจด้วยอิบาดะฮฺหลายแหล่เหล่านี้ ทว่าหัวใจนั้นจะเรียกร้องที่จะประกอบทำการงานทั้งหลายด้วยตัวมันเอง เพราะมันรู้ดีว่านี่คือความแสนสุข


ความตื่นเต้นที่เราจะได้พบกับเราะมะฎอนคงและควรจะมากกว่าความตื่นเต้นของชาวสวนที่จะได้เห็นผลไม้ของพวกเขามากมายนัก เพราะผลไม้แห่งเราะมะฎอนนั้นไม่ใช่แค่ผลที่กินได้แต่เพียงโลกนี้ แต่คือผลที่ใช้เป็นเสบียงติดตัวในการเดินทางไกลแสนไกล และไม่ใช่แค่ผลสำหรับนำไปขายในตลาดที่ผู้คนขวักไขว่ แต่คือผลสำหรับนำไปขายในตลาดที่คู่ค้าของเราคืออัลลอฮฺ ฉะนั้นเตรียมอุปกรณ์รดน้ำของเราให้มั่นและจับทำมันสม่ำเสมอ ผลของต้นไม้ที่ผ่านการดูแลอย่างใส่ใจ กับต้นไม้ที่ไม่ได้รับการดูแลย่อมแตกต่างกันทั้งในรูป-สี-กลิ่น-รส


หากอยากทานผลไม้ที่หอมหวานและอร่อยเหลือ ก็จงทำงานเพื่อการนั้น พร้อมๆ กับดุอาอ์ต่อผู้อนุมัติทุกการงอกเงย…ขอให้เราได้พบเราะมะฎอนที่แสนดี พร้อมๆกับพิสูจน์ตัวเองว่ามีความเหมาะสมคู่ควรกับมัน


ผลไม้แห่งเราะมะฎอนรอคอยอยู่แล้ว ขอทุกผู้เพาะปลูกมืออาชีพโปรดรดน้ำด้วยชะอฺบานอย่างชื่นบานเถิด

ถึ ง เ ธ อ . . . ว่ า ที่ เ จ้ า ส า ว


อัสลามุอะลัยกุมว่ะรฮฺม่ะตุลลอฮฺว่ะบ่ะเราะกาตุฮฺ
ขอความสันติจากผู้ทรงบังเกิดทุกสรรพสิ่งมาอย่างเป็นคู่…จงประสบแด่เธอ และก็เธอ และก็เธอๆ ๆ ๆ


ฉันไม่ประหลาดใจเท่าไหร่กับจำนวนคนคุ้นเคยของหัวใจที่กำลังจะเปลี่ยนสถานะภาพ มันเป็นเรื่องของช่วงวัยที่เข้าใจได้  แต่ก็ยอมรับว่าความมากมายของว่าที่เจ้าสาวทำให้รู้สึกตื้นตัน  (มันคือตื้นตันจริงๆ ไม่มีวาระแอบแฝงอื่น) การแต่งงานก็เป็นอิบาดะฮฺประการหนึ่งของชีวิตเราที่กำหนดของมันมาถึงใคร ก็ก้าวไป ใครยังมาไม่ถึงก็ทำงานอื่นไปก่อน มีอีกเยอะแยะกระเพาะแพะให้หยิบจับ แล้วก็แสดงความยินดีปรี่ล้นกับผู้ได้กระทำเช่นเดียวกับยามที่ได้เห็นผู้คนมีโอกาสได้ทำความดีอื่นๆ  แต่ใช่แหละ ความดีงามประการนี้มันส่งผลถึงอีกหลายเรื่องของชีวิตเราและประชาชาติเรา  อีโมชั่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลยอาจจัดเยอะหน่อย และนั่นทำให้ฉันครุ่นคิดเรื่องราวเกี่ยวกับเธอมากพอสมควร…ก็พอจะทำให้นึกอยากเขียนอะไรบางอย่างถึงเธอนี่แหละ


รู้ล่ะ ว่ามันค่อนข้างเป็นอะไรที่ไม่เจียมเนื้อเจียมตัวอยู่พอสมควร ที่จะเขียนแนะนำนู่นนี่นั่นกับเธอ แต่รู้สึกจริงจังว่ามีอะไรบางอย่างอยากพูดกับพวกเธอ และต้องพูดด้วย  ส่วนที่ตัดสินใจเอามันมาแปะในที่นี้เพราะคิดว่าอาจมีว่าที่ฯคนอื่นๆ ที่อัลหะกีมได้กำหนดให้พลัดหลงเข้ามาอ่าน แล้วได้ประโยชน์จากมันไปบ้างแม้เล็กน้อย-บิอิซนิลละฮฺ นั่นก็น่ายินดียิ่งแล้วสำหรับการเก็บสะสมเสบียงของคนที่เต็มไปด้วยบาปหนาหนักอย่างเราๆ


ก่อนจะเข้าเรื่องขอทำท่าเจียมตัวอีกนิดหนึ่งละกันว่า ที่จะบอกเธอต่อไปนี้ อย่าเรียกว่า “คำแนะนำ” หรืออะไรพรรค์นั้นเลย เรียกมันว่า “สิ่งที่ฉันอยากบอกเธอ” แค่นั้นก็แล้วกัน และเธอคงไม่คาดหวังว่าจะได้อ่านอะไรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารชีวิตคู่หรอกนะ เรื่องนั้นเธอไปศึกษาเอาจากคนที่มีโปรไฟล์เหมาะสมจะงดงามกว่า ที่จะได้อ่านต่อไปนี้จึงเกี่ยวข้องกับการจัดการช่วง “รอ” ก่อนจะก้าวขึ้นบันได้ขั้นใหญ่ๆ ขั้นนั้นของชีวิตเป็นหลัก (ก็ตามหัวข้อจดหมายไง…ว่าเรื่องนี้ เขียนถึง ‘ว่าที่’ เจ้าสาว – อินชาอัลลอฮฺ)


๑- คงไม่ต้องพูดเรื่องการสรรหาอะไรกันแล้วเนอะ เพราะเธอตัดสินใจไปแล้ว และเชื่อว่ามันเป็นไปบนการปรึกษาหารืออย่างถี่ถ้วนแล้วกับเจ้าของชีวิตของเธอ ที่อยากพูดคือช่วงระหว่างตัดสินใจแล้วว่าจะก้าวขึ้นบันไดไหน กับจังหวะทีได้ก้าวขึ้นไปจริงๆ  มันเป็นอีกช่วงที่สำคัญมากเหมือนกันในชีวิตเรา ก็สั้นบ้าง ยาวบ้าง แล้วแต่อัลลออฺจะจัดให้ใครแบบไหน  มันเป็นช่วงของการรอคอยที่เธอจะไม่พบใครเลยจะนำมาซึ่งสิ่งที่เธอรอคอยเว้นแต่อัลลอฮฺ ดังนั้นจงรักที่จะให้พระองค์เห็นเธอมาพบพระองค์เสมอในสภาพของผู้ที่โหยหาความช่วยเหลือจากพระองค์อย่างเหลือเกิน  อย่าให้การตกลงใจแล้วและภารกิจยุ่งขิงมากหลายที่ตามมาหลังการตัดสินใจทำให้เธอหันห่างจากพระองค์ หรือมั่นใจในสิ่งที่อยู่ในมือตัวเองมากเกินไป ฉันค่อนข้างเชื่อด้วยว่า ช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่เธออาจได้พบความสับสน-ไม่แน่ใจบางประการ (ตามลักษณะนิสัยของผู้หญิง โดยเฉพาะเวลาถึงจุดเลี้ยวใหญ่ๆ ของชีวิต มันเข้าใจได้นะที่เราจะทำอะไรบางอย่างให้รถข้างๆขมวดคิ้วมองพลางบอกว่า ‘คนขับรถคันนั้นต้องเป็นผู้หญิงแหงแก๋’) แต่กลัวไปไยไพ เธอมีอัลลอฮฺ-ผู้ที่เพียงตรัสว่าจงเป็น ทุกสิ่งก็เป็นขึ้น- เป็นที่มอบหมาย อยู่แล้วนี่นา


๒- แม้จะตกลงใจแล้ว แต่ตราบใดที่ใครคนนั้นยังไม่มานั่งอยู่ต่อหน้าวลีของเธอ แล้วบอก “เกาะบูล” รับ “อิญาบ” ของท่าน เขาก็ยังไม่ได้เป็นอะไรกับเธอทั้งสิ้น  ฉะนั้น ในช่วงเวลาก่อนนั้น อย่าได้ทำอะไรที่จะทำให้ขอบเขตระหว่างเธอ กับใครคนนั้นทลายลง  มีธุระปะปังอะไรต้องพูดคุยติดต่อ ก็พยายามทำโดยมีมะฮฺรอมของเธออยู่ร่วมด้วยเสมอ แม้กระทั่งในการติดต่อแบบไม่เห็นหน้า (ที่จริง กฎทั่วไป-อย่างที่เราต่างรู้- คือเมื่อคุยธุระ(จริงๆ) เราสามารถคุยกับเพศตรงข้ามได้ แต่ในกรณีแบบนี้ ไม่รู้สิ ฉันอยากให้เธอคุยโดยมีมะฮฺรอมร่วมมันทุกกรณีไปเลย จะพูดโทรศัพท์ก็เปิดสปีค หรือประชุมสาย จะคุยอีเมวก็ให้มะฮฺรอมเป็นผู้ส่งต่อ หรือให้มะฮฺรอมอยู่ร่วมในเอดเดรสผู้รับด้วย ฉันว่ามันปลอดภัยแก่หัวใจเธอมากกว่ามหึมามหาศาล) ไม่รู้สิ สำหรับฉัน ฉันว่าการแต่งงานเป็นก้าวใหญ่ๆก้าวหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญกับชีวิตเรา เราควรทำให้มันสะอาดที่สุดในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่เริ่มต้น  บินัศริลละฮฺ


๓- จากประสบการณ์ทางอ้อมผ่านคนใกล้ๆ  พบว่าพวกกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการแต่งงานมันไม่ใช่เรื่องของคนสองคนเลย โดยเฉพาะในขั้นตอนของพิธีและรายละเอียดต่างๆ  ถ้าการตัดสินใจเลือกใครสักคนเป็นเรื่องของประชาชาติ ขั้นตอนต่างๆที่จะตามมาหลังจากที่เลือกแล้วก็เป็นเรื่องของสหประชาชาติเลยเชียวล่ะ เธอจะได้พบคนมากมายที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แนะนำ และบอกกล่าวนู่นนี่นี่นั่น ที่สำคัญอันพึงใส่ใจก็คือครอบครัวของทั้งสองฝ่าย แน่นอน บางครั้งความต้องการของตัวคนแต่งกับของผู้ใหญ่มันไม่ค่อยจะสอดคล้องกันเท่าไหร่ พาลให้ดราม่าเล็กน้อย-ปานกลาง ฉันอยากแนะนำให้เธออลุ่มอล่วยที่สุด เท่าที่พอจะทำได้  พยายามบะลานซ์ระหว่างความต้องการของตัวเอง (ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับคำว่า “อุดมการณ์”) กับความประสงค์ของญาติผู้ใหญ่ บางอย่างถ้ามันยอมความกันได้ ก็ยอมๆไป อย่าลืมว่าการรักษาเครือญาติก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมากๆในอิสลาม แต่ถ้าบางเรื่องกับบางข้อเสนอแนะ มันเกินรับจริงๆ ก็พยายามอธิบายด้วยเหตุผลที่ดีและมารยาทที่งาม  และเชื่อมั่นเสมอว่าดุอาอฺคือทางออกของทุกสรรพสิ่ง


๔- ในช่วงเวลาก่อนที่ความเปลี่ยนแปลงจะนำเธอออกไปจากสภาวะชีวิตที่เคยอยู่กับมันมานับยี่สิบปี จงให้ความใส่ใจกับงานที่สภาวะแวดล้อมชีวิตใหม่จะทำให้เธอไม่อาจหยิบจับทำมันได้เต็มที่เหมือนเช่นเคย เช่น งานกับคนในครอบครัว งานกับคนในชุมชน  งานกับรุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเก่าหรือโรงเรียนเก๋า ฯลฯ โดยพวกงานประเภทต่อเนื่องที่ต้องสานต่อ เช่น สอนหนังสือมุอัลลัฟ จัดฮะละเกาะฮฺกับเด็กๆในชุมชน ฯลฯ ลองหาทางส่งไม้ต่อให้ใครคนที่พอมองหาได้และมองเห็นดู ที่สำคัญยิ่งกว่าอื่นใด คนที่อยากให้เธอใช้เวลาวัยโสดตอนปลายของตัวเองคลุกอยู่กับเขาให้มากที่สุดก็คือคนที่เราเรียกกันว่า “แม่”


๕- และจอมนางผู้นั่นแหละ คือคีย์เวิร์ดที่อยากจะเอามาพูดถึงในเรื่องที่ใครต่อใครชอบบอกว่าผู้หญิงต้องไปฝึกปรือให้คล่องแคล่วก่อนออกเรือน  ก็พวกเรื่องงานบ้าน งานครัว และอะไรในหมวดนั้นนั่นแล จะบอกว่า…ไม่ต้องไปหาเรียนที่ไหนเลยเธอเอ๋ย (กรณีที่ไม่เชี่ยวชาญ) พวกวิชาการเรือนตั้งแต่เย็บปักถักร้อยไปจนถึงควงตะหลิว แค่เดินไปคล้องแขนเสด็จแม่ ให้ท่านช่วยบอกสอนให้ ดียิ่งกว่าครูทุกสถาบันเพราะท่านรู้จักเราและห่วงใยเรายิ่งกว่าใคร ไม่ใช่แค่วิชาการหรอกที่จะได้ แต่จะได้เกร็ดชีวิตมากมายก่ายกองจากท่าน แม้แต่ว่าเธอเป็นกระบี่มือเอกในเรื่องแม่ศรีเรือนอยู่แล้ว การไปขลุกอยู่กับแม่ก็ยังจะให้ประโยชน์อลังการ อินชาอัลลอฮฺ

(อีกเรื่องหนึ่งที่อยากเตือนตัวเองและตัวเธอเอาไว้ ในฐานะที่พวกงานการเรือนนี่ก็ควรถูกนับเป็นความรู้อย่าง๑ ฉะนั้น จงบริสุทธิ์ใจในการเรียนรู้มัน ต้องย้ำกับตัวเองเสมอว่าเธอไม่ได้ฝึกปรือตัวเองเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อจะไปทำให้ใครคน๑พอใจ เป็นใครคนที่อัลลอฮฺสั่งใช้มาว่าให้เธอทำตัวให้เขาพอใจ ฉะนั้นปลายทางของงานนี้ก็เหมือนกับทุกงานคือต้องตั้งอยู่ที่ความพอใจของอัลลอฮฺ เธอไม่ได้ต้องการให้ใครมาชื่นชมว่าสาวนี่ทำกับข้าวอร่อยเลิศ หรือทำงานฝีมือได้ราวมีบรรพบุรุษเป็นชาววัง พึงระวังการโอ้อวดในเรื่องนี้ไว้ด้วย…ก็เช่นเดียวกับทุก ๆ เรื่องในชีวิตเราแหละเนอะ)


๖- จงอยู่กับอัลกุรอาน อย่าให้สารพัดภารกิจของว่าที่เจ้าสาวดึงเวลาของเธอไปจากสิ่งที่เป็นชีวิตของหัวใจ เราพูดกันเสมอว่าอยากสร้างครอบครัวแห่งอัลกุรอาน แต่มันจะเริ่มขึ้นได้อย่างไร ถ้าขณะกำลังจะย่าวก้าวแรกตรงนี้ เรายังไม่มีอะไรเลยเป็นต้นทุนสะสม คนจำนวนไม่น้อยคาดหวังว่าเมื่อตัวเองมีครอบครัว ใครคนนั้นจะเข้ามามีส่วนช่วยสร้างโปรแกรมการศึกษาอัลกุรอานที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในชีวิต  มันเป็นความใฝ่ฝันที่หอมและชวนชม แต่เข้าขั้นเพ้อเชียวล่ะถ้าเจ้าของความใฝ่ฝันนั้นไม่เริ่มต้นผูกพันกับอัลกุรอานตั้งแต่ขณะยังอยู่ตัวคนเดียว ยิ่งกว่านั้น เชื่อไหมว่าเจ้าของความใฝ่ฝันที่ไม่ยอมเริ่มด้วยตัวเองก่อนเหล่านั้นมักจะได้คนที่มีลักษณะเดียวกัน คือต่างหวังจะมารับจากอีกฝ่าย เลยต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีต้นทุนอะไรมาให้แก่กัน ซึมเลยทีนี้ (ขออัลลอฮฺช่วยเหลือและให้ทางออกกับพวกเขาเหล่านั้น เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็มีความหวังที่จะเข้าใจคัมภีร์ของพระองค์ ซึ่งน่าชื่นชม)


๗- ดูแลตัวเอง – จบประโยค


๘- แต่ก็อย่าหมกหมุ่นอยู่แต่เรื่องตัวเอง อันนี้สำคัญนัก อย่าให้ช่วงเวลาที่มีหลายธุระส่วนตัวให้จัดการกลายเป็นช่วงที่เราถูกตัดขาดจากธุระอื่นๆของพี่น้อง (แม้ความจริงพี่น้องทั้งหลายก็คงและก็ควรจะไม่รบกวนเธอมากนัก) ทั้งพี่น้องใกล้ตัวไปจนถึงคนไกลต่างแดน เมื่อได้พบเห็นธุระหรือความเดือดร้อนของพวกเขา ก็จงเอาธุระด้วย (เท่าที่สามารถ) ที่สำคัญคืออย่างน้อย อย่าลืมดุอาอฺให้พวกเขา เชื่อว่าช่วงชีวิตระยะนี้ของเธอคงมีดุอาอฺยาวเหยียดให้ขอและให้ฝากใครๆช่วยขอ แต่นั่นแลเรื่องน่ารักสุดๆอย่างหนึ่งของชีวิตคือ ที่จริงแล้วการได้ทำอะไรให้คนอื่น กลับกลายเป็นการให้ตัวเราเองในเวลาเดียวกัน เธอก็คงเคยได้ประสบกับตัวอยู่บ้าง…หลายครั้งเชียวใช่ไหมล่ะที่เราขอดุอาอฺให้พี่น้อง แล้วกลายเป็นว่าดุอาอฺนั้นได้กับเราด้วยอย่างไม่ได้คาดคิด (อัลลอฮฺรับดุอาอฺของมลาอิกะฮฺที่ขอให้เราตอนที่เราขอให้พี่น้องไง สุบฮานัลลอฮฺ อัลลอฮฺทรงใจดีที่หนึ่ง)


๙- หาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ในอิสลาม โดยเฉพาะในเชิงบทบัญญัติต่างๆ มีไฟล์เสียงมากมายของเหล่าผู้รู้ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศให้เลือกรับฟัง ส่วนที่อยากแนะนำคือหนังสือบางเล่มทีเกี่ยวข้อง ซึ่งอันที่จริงก็หาซื้อได้เกลื่อนแผงหนังสือ แต่ฉันอยากยกเล่มคลาสสิคๆทางวิชาการมาให้ดูชม เผื่อเธอจะสนใจนะ


–  ฟิกฮุสสุนนะฮฺ (เล่ม๓) | สัยยิด สาบิก แปลไทยโดยสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ…เธอมีซีรีย์หนังสือนี้ (๕ เล่ม สาว่า) เก็บไว้ที่บ้านหรือเปล่า ควรมีอยู่นะ ฉันขอแนะนำ เล่ม๓ที่บอก คือเล่มที่ว่าด้วยทั้งหมดทั้งปวงเกี่ยวกับการแต่งงาน ตั้งแต่ความประเสริฐ การเลือกคู่ครอง การสู่ขอ การจัดพิธี ไปจนถึงการใช้ชีวิตคู่ การเลี้ยงลูก และกระทั่งการหย่า เธอจะได้พบสารพัดตัวบท และสารพันทัศนะของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องในหมวดนี้ ชนิดที่บางทีก็ชวนตื่นตะลึงว่ามีงี้ด้วยหรอ (เรื่องจริงก็คือยิ่งศึกษาเรียนรู้ก็จะยิ่งรู้ในความไม่รู้ของตัวเอง) อืมม แต่ฉันควรบอกเธอไว้ก่อนด้วยไหม ว่าหนังสือเล่มนี้ (ที่จริงคือทั้งซีรี่ย์มันนั้นแหละ) เค้าใช้ภาษาแปลแบบที่ฉันเรียกขานในใจว่า “ภาษาไทยกลิ่นทะเลทราย” แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสที อาจแค่งงๆกับบางจุด และขำกิ๊กกับอีกบางจุด


– “ครองรักครองเรือน” | ชัยค์อัลอัลบานี  สำนักพิมพ์อิสลามิคอเคเดมี…ตามจริงจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้-สำหรับฉันนะ-ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเนื้อหาว่าด้วยการแต่งงานของหนังสือสักเท่าไหร่ เพราะหลักๆแล้วมันก็คือการเอาตัวบทที่เกี่ยวข้องมาวาง ไม่ต่างกับเล่มอื่นๆ ในท้องตลาดมากนัก แต่ที่ฉันประทับใจเล่มนี้คือส่วนของเชิงอรรถ มันเป็นหนังสือที่มีเชิงอรรถพอๆกับหรืออาจมากกว่าเนื้อหาของหนังสือล่ะมั้งนั้น ฉันนึกไม่ออกว่ามีงานแปลของช.อัลบานีเป็นภาษาไทยเล่มอื่นอีกมั้ย แต่แค่เล่มบาง ๆ เล่มนี้ มันแสดงให้เห็นเลยว่า หนังสือของมุหัดดิษตัวจริงมันเป็นเยี่ยงไร (สำนวนการตัดสินสถานะของหะดีษบางบทของช.อัลบานีในเล่มนี้ช่วยตอบปัญหาคาใจฉันเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาในอิสลามกับการถกอภิปรายได้กระจ่างแจ่ม)


– หนังสือชุด “Muslim Family| ชัยค์มุฮัมมัด มุศฏอฟา อัลญิบาลี  (เป็นภาษาอังกฤษ-มีขายที่ศูนย์หนังสือศูนย์กลางฯ) มันจะมีทั้งหมด ๔ เล่ม ไล่ไปตั้งแต่ เรื่องราวก่อนแต่ง ระหว่างแต่ง หลังแต่ง และการเลี้ยงลูก ไม่รู้ทำไมนะ ฉันประทับใจหนังสือชุดนี้มาก (ยังอ่านไม่ครบทุกเล่ม) ทั้งที่เคยเข้าใจว่าหนังสือแนวนี้ อ่านกี่เล่มๆกี่เล่มก็คล้ายๆกันหมด แต่ชุดนี้ตอนอ่านมันให้ความรู้สึกต่างไปจากเล่มอื่นๆ พูดไม่ถูกเหมือนกัน เค้าใส่หลักฐานต่างๆโดยมีตัวบทภาษาอาหรับประกอบ พร้อมสายรายงานและทัศนะของมุหัดดิษเกี่ยวกับความแข็งแรงของตัวบทนั้นๆประกอบ(เกือบทั้งหมดอ้างอิงทัศนะช.อัลบานี)  กับมีการอ้างอิงถึงตัวอย่างในประวัติศาสตร์อยู่ทุกบ่อย…มันมีประโยชน์มากเลยนะเรื่องนี้ ให้ทั้งความรู้และความรู้สึก มาชาอัลลอฮฺ เอาเป็นว่า ฉันแนะนำมากๆเลย สำหรับหนังสือชุดนี้…หากว่าเธอพอจะอ่านภาษาอังกฤษได้


๑๐- ดุอาอฺคือยาวิเศษ…ข้อนี้ค่อนข้างเชื่อมั่นมากเลยว่าเธอหยิบจับมันอย่างคุ้นและคงมือเสมอ มันเป็นไปไมได้เลย ที่ผู้ศรัทธาจะวางมือจากการวอนขอต่ออัรเราะหฺมานในยามที่ชีวิตเดินทางมาถึงหัวเลี้ยวสำคัญ ฉะนั้น ที่จะเพิ่มเติมจึงเป็นแนะนำดุอาอฺดีๆ ดีกว่าเนอะ (ทำเป็นเล่นไป บางทีแค่เนื้อหาดุอาอฺภาษาไทยที่ขอตามอัธยาศัยนี่แหละ พอลองได้ฟังของที่ชาวบ้านเค้าขอ ถึงได้รู้ตัวว่าบางที…เราก็ตกหล่นบางประเด็นไปได้อย่างน่าฉุนใจ) แต่ยังไง ณ ที่นี้ขอเน้นเป็นดุอาอฺตัวบทภาษาอาหรับละกัน ซึ่งอันที่จริงพวกดุอาอฺเกี่ยวกับหัวใจทั้งหลาย สามารถใช้ในกรณีได้หมดอยู่แล้วเนอะ แต่ที่อยากแนะนำเธอ-ผู้อยู่ในช่วงเวลาแห่งการรอคอย-จริงจัง คือดุอาอฺที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดของอัลลอฮฺ (ฉันขอละดุอาอฺจากอายะฮฺที่ ๗๔ ของซูเราะฮฺอัลฟุรกอนไว้ก็แล้วกันนะ ในฐานะตัวบทที่เชื่อว่าเราทุกคนตั้งแต่ยังไม่มีเค้าแววใดในเรื่องนี้ไปจนถึงมีลูกโตเต็มบ้านแล้วก็คงท่องจำกันขึ้นใจทั้งนั้น)


اَللَّهُمَّ إِنِّيْ أَسْأَلُكَ الرِّضَا بَعْدَ الْقَضَاءِ

อัลลอฮุมมะ อินนี อัสอะลุ กัรริฎอ บะอฺดัล เกาะฎออฺ

“โอ้อัลลอฮฺ ข้าพระองค์วอนขอต่อพระองค์ ซึ่งความพอใจในกำหนดของพระองค์”
(จากหะดีษ บันทึกโดยอะหฺหมัด ชัยค์อัลอัลบานีกล่าวว่าศอฮีฮฺ)


اللَّهُمَّ إِنِّى أَسْأَلُكَ أَنْ تَجْعَلَ كُلَّ قَضَاءٍ قَضَيْتَهُ لِى خَيْرًا

อัลลอฮุมมะ อินนี อัสอะลุกะ อันตัจญฺอะละ กุลละ เกาะฏออิน เกาะฎ็อยตะฮู ลี ค็อยร็อน
“โอ้อัลลอฮข้าพระองค์วอนขอต่อพระองค์ ให้ทุกกำหนดที่พระองค์กำหนดแก่ข้าพระองค์นั้นเป็นความดีงาม”
(จากหะดีษ บันทึกโดยอะหฺหมัดและอิบนุมาญะฮฺ ชัยค์อัลอัลบานี กล่าวว่า เศาะฮีฮฺ)


رَبِّ إِنِّي لِمَا أَنْزَلْتَ إِلَيَّ مِنْ خَيْرٍ فَقِيْرٌ

ร็อบบิ อินนี ลิมา อันซัลตะ อิลัยยะ มิน ค็อยริน ฟะกีร
“ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ แท้จริงข้าพระองค์อยากได้ในความดีที่พระองค์ทรงประทานลงมาให้แก่ข้าพระองค์”

(ดุอาอฺของนบีมูซา จากอัลกุรอาน สูเราะฮฺอัลเกาะศ็อศ อายะฮฺที่๒๔ – จริงๆดุอาอฺบทนี้มีบริบทที่น่ารักเกี่ยวข้อง คือพอนบีมูซาอ่านดุอาอฺนี้ปึ้บ อายะฮฺต่อไปของอัลกุรอานบอกว่า หญิงสาว(ลูกของนบีชุอัยบ์)ได้เดินเข้ามาหา ซึ่งผู้หญิงคนนี้คือว่าที่คู่ครองของนบีมูซานั่นเอง เลยมีคนเข้าใจว่านี่คือดุอาอฺเจาะจงเรื่องคู่ครอง แต่ที่จริงแล้วใช้ได้ทุกเรื่องเชียว เพราะนบีมูซาขอดุอาอฺบทนี้ในขณะที่ “ฟะกีร-ขัดสน” ในทุกสิ่ง ไม่มีอาหาร ไม่มีที่พัก ไม่มีครอบครัว ไม่มีความปลอดภัย ฯลฯ แล้วอัลลออฺก็ให้ทุกสิ่งแก่ท่าน ซุบฮานัลลอฮฺ…ลองฟังชัยค์มุฮัมมัด ฮัซซานพูดถึงดุอาอฺบทนี้ www.youtube.com/watch?v=aKfNZw6H6XE)


๑๐ ข้อ!…คิดว่าฉันควรจบจดหมายฉบับสู่รู้นี้ได้แล้ว ก่อนที่เธอจะตาลายมากไปกว่านี้…แต่ก่อนจบ อยากบอกว่า…ฉันอาจได้ไปหรือไม่ได้ไปงานสำคัญของเธอ แต่ก็ยินดีด้วยจริงๆ ยินดีด้วยมากๆ มันเป็นเรื่องน่ายินดีที่สุดที่คนที่เรารักจะได้สนองบัญชาใช้ของอัรเราะฮฺมาน และเดินตามรอยทางของอัลมุศเฏาะฟา มันยิ่งใหญ่นะ-เอาจริงๆแล้ว-สำหรับภารกิจที่เธอกำลังจะทำ ยิ่งใหญ่จนเชื่อว่าคงมีบ้างบางวินาทีที่เธอกังวลว่าจะผ่านมันไปไม่ได้ แต่จำไว้อย่างเถอะว่า…เราทุกคนไม่มีความสามารถที่จะผ่านเรื่องราวยิ่งใหญ่หนักหน่วงใดไปได้เลย นอกจากคุณสมบัติเดียว นั่นคือการที่เราเป็นบ่าวของผู้ทรงใจดีที่สุด ผู้ทรงเพียงตรัสว่า ‘จงเป็น’-ทุกอย่างก็จะเป็นขึ้น  ผู้ทรง “ก็อดดะเราะ ฟะฮะดา – กำหนด แล้วก็แนะทางให้” และไม่ทรงจากไปไหนเลย


ฉันเชื่อว่าเธอจะทำงานนี้ได้ และก็ได้อย่างดีๆ – อินชาอัลลอฮฺ ไม่ใช่เพราะเชื่อมั่นในตัวเธอ แต่เป็นในตัวของผู้ที่เธอมอบวางกิจการของเธอไว้ ฉะนั้น ขอเธอจงอยู่กับพระองค์ ฝากวางทุกเรื่องราว ทุกกิจการ ทุกสิ่งทุกอย่างของหัวใจและของชีวิตไว้ ณ ที่พระองค์ จากนั้น…ไม่ว่าที่รออยู่จะเป็นสิ่งใด มันก็ไม่มีอะไรจะต้องกลัว !


ดูแลอีมานตัวเองดีๆนะ เพราะเธอยังต้องช่วยดูแลใครอีกหลายคน
ขอผู้ทรงบังเกิดทุกสรรพสิ่งมาเป็นคู่ๆ โปรดช่วยเหลือเธอทุก ๆ เรื่อง
วัสลามุอะลัยกุมว่ะเราะฮฺม่ะตุลลอฮฺว่ะบ่ะเรากาตุฮฺ

รูปนี้ท่านได้แต่ใดมา?

(บทความนี้เขียนเพื่อร่วมแจมเป็นฮะดียะฮฺในงานวลีมะฮฺของน้องสาวคน๑
เห็นว่าประเด็นของบทความยังถกต่อได้อีก เลยลองเสี่ยงเอามาลงไว้
ภาษาอาจชะเวิ้บชะว้าบไปบ้าง ถ้าไปกระทบกระทั่งท่านใด ขอให้ทราบว่าไม่มีเจตนา และขอมอัฟมา ณที่นี้)


เจ้าสาวงานนี้บอก (สั่ง) ข้าพเจ้าว่า “ช่วย (ต้อง) เขียนเรื่องที่ ‘กระแทกสังคม’ มาให้หนึ่งเรื่อง ให้เวลาสองวัน” ไม่กำหนดหัวข้อหรือให้รายละเอียดอะไรมากไปกว่านี้ (ขอบคุณ)  เมื่อนำสเปคงานอันกว้างยิ่งกว่าเจ้าพระยาตอนน้ำท่วมที่ท่านมีเสาวนีย์มาลองคิดดู  ไม่รู้เป็นเพราะอคติในจิตสำนึกหรืออะไรที่ทำให้ภาพที่ปรากฏในหัวมีแต่ภาพหน้าจอสีขาว แถบสีน้ำเงิน และตัวเอฟเด่นหรา…แค่เห็นลาง ๆ ก็รู้ว่ามันคือภาพของอาณาจักรที่ประชากรเยอะที่สุดในโลกปัจจุบัน สาธารณรัฐที่หลายคนต้องเข้าไปประจำการทุกเช้าเย็น และอาจลงแดงถ้าไม่ได้แวะเวียนเข้าไปสักสาม-สี่วัน…โลกเสมือน(ที่เริ่มเลือนเข้ากับโลกจริง)อันมีชื่อว่า ‘เฟสบุ๊ค’


ในประดาเรื่องน้อยใหญ่เกี่ยวกับเฟสบุ๊คที่ข้าพเจ้าอยากกระแทกให้ล้มโครมนั้น รูปการ์ตูนหญิงสาวหน้าใสกิ้ง คลุมหิญาบงามพริ้ง ยิ้มหวานวิ้งๆ…ลอยเด่นหราขึ้นมาก่อนใคร อยากรู้มากว่าน้องนางหน้าโอโม่เหล่านี้มีจุดกำเนิดมาจากที่ใดถึงได้ฮอตฮิตกลายเป็นเซเลบประจำเฟสบุ๊คของพี่น้องมุสลิมทั้งหลายแหล่


จะขอเล่าวิวัฒนาการของเหล่าตัวการ์ตูนเหล่านี้ให้ฟังเท่าที่เคยเห็นก่อนนะคะ…ตอนแรกน้องนางปรากฏตัวในฐานะผู้เชื้อเชิญให้ใครๆมาคลุมหิญาบ เริ่มจากน้องใส่หิญาบยิ้มหวานธรรมดาเบฯ นัยว่าคลุมหิญาบแล้วดูดีน่าเอ็นดูออกนะเธอ มาคลุมหิญาบกันเถอะ…จากนั้นเริ่มมีอาแบหน้าเกาหลีเคราหรอมแหรมโผล่มายิ้มขรึมคู่ คราวนี้มีถ้อยความทำนองว่าชายดีที่ไหน ๆ เค้าก็เลือกคนคลุมหิญาบกันนะเออ อยากได้คนดี ก็ทำตัวดี ๆ แต่งตัวดี ๆ ก่อนสิจ๊ะ (ซึ่งมีคนนะซีฮะฮฺไปแล้วว่าเป็นวิธีคิดที่สุ่มเสี่ยงว่าจะกระทบเรื่องความอิคลาศในการทำความดี)…แล้วจากนั้นน้องก็เริ่มเดินทางสู่การเป็นพรีเซ็นเตอร์โครงการสร้างครอบครัวอิสลามโดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งถ้าพูดอย่างยุติธรรม มันก็มีเรื่องที่น่าชื่นชมในความพยายามอันนี้ แต่ลักษณะของตัวการ์ตูนที่เหมือนกับการเอาการ์ตูนญี่ปุ่น-เกาหลีมาตัดต่อพันธุกรรมให้กลายเป็น ‘อาเด๊ะวุ่นจังกับอาบังเย็นชา’ มันชวนให้ตงิด ๆ ที่หัวใจ ยิ่งช่วงหลัง พัฒนาการของแอ๊คชั่นหวาน  ๆ  ระหว่างอาแบกับอาเด๊ะยิ่งดูจะเลยเถิดไปทุกที อาเด๊ะเราอ้อล้อออกสื่ออย่างไม่ขวยเขินอีกต่อไปแล้ว ขณะอาแบก็ชักแสดงออกเยอะขึ้นเรื่อยๆ  แม้จะใช้ประกอบข้อความที่สื่อไปในทางคู่สามี-ภรรยามากกว่าความสัมพันธ์อื่นใด แต่มันก็ดูขัดตาอยู่ดี…หรือเปล่า?


เคยชวนเพื่อน ๆ มาร่วมด้วยช่วยกันถกเรื่องนี้ บนความพยายามที่จะให้มีฝ่ายค้านคอยปกป้องการใช้รูปภาพการ์ตูนแบบนี้ด้วย เพื่อให้ได้เหตุผลของทั้งสองฝ่าย ส่วนมากการถกของเรามักจบลงที่…โอเค พวกเราอาจไม่ชอบการใช้ภาพพวกนี้ และคิดว่าไม่ค่อยจะเหมาะสม แต่มันก็ไม่น่าจะใช่ความผิดชัดเจนถึงขนาดต้องไปนำเสนอความไม่เห็นด้วยนี้ต่อสาธารณะ ตราบที่รูปภาพเหล่านั้นถูกใช้ประกอบเนื้อหาที่ถูกต้องตามหลักการชัดเจน ทว่าเมื่อสบโอกาสให้ได้กระแทกอะไรสักอย่าง ณ ที่นี้ ข้าพเจ้าก็เห็นว่าเป็นวาระอันดีที่จะลองเสนอความคิดเห็นเรื่องนี้ดู ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด


๑- ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าที่กำลังพูดถึงคือรูปการ์ตูนเท่านั้น ส่วนการนำรูปมุสลิมะฮฺจริง ๆ มาลง ไม่ว่าจะประกอบบทความชนิดใด ก็ไม่เห็นด้วยทั้งนั้น เพราะมันนำมาซึ่งฟิตนะฮฺโต้ง ๆ หลายประการ


๒- ในส่วนของรูปการ์ตูนมุสลิมะฮฺหน้าวิ้งที่บอกไป ส่วนตัวรู้สึกว่าถ้าเลี่ยงได้ก็น่าจะเลี่ยงไว้ก่อน  เราไม่รู้เลยว่าในหมู่คนที่ดูมัน จะมีหัวใจดวงใดมีโรคและอาจได้รับผลกระทบจากภาพตัวการ์ตูนหน้าตาสะสวยเหล่านี้บ้าง โดยเฉพาะภาพที่มีการแสดงออกในเชิงคู่รัก แม้ว่าจะใช้ประกอบข้อความที่สื่อให้เห็นว่าเป็นการแสดงความรักฉันสามี-ภรรยา แต่ก็ไม่เคยรู้ว่าอิสลามสนับสนุนให้มีการแสดงความรักระหว่างสามี-ภรรยาในที่สาธารณะ ไม่ต้องนับว่าหลายครั้งภาพที่ก่อให้เกิดจินตนาการเหล่านั้นถูกนำมาใช้ประกอบเนื้อหาเกี่ยวกับความรักทั่ว ๆ ไปด้วยซ้ำ


๓- เรื่องที่ลึกลงไปกว่าฟิตนะฮฺที่อาจเกิดจากภาพเหล่านี้ คือชุดความคิดที่อยู่เบื้องหลังมัน เรื่องนี้น่าคิดนะคะ ทำไมเวลาเราพูดเรื่องความรัก การนิกาฮฺ ชีวิตคู่ หรืออะไรอื่น ๆ ในหมวดนี้แล้วจะต้องเอาภาพของชาย-หญิงสวีตหวานมาประกอบด้วย มันมีจุดเริ่มมาจากไหน วัฒนธรรมของใคร และเราต้องการสื่ออะไรจากรูปภาพเหล่านี้ เพราะในทางศิลปะ การนำเสนอรูปภาพย่อมมีนัยยะและให้ความหมายบางอย่างหรือหลายอย่างเสมอ


กำลังจะบอกว่า…เรากำลังติดหล่มแนวคิดโรแมนติกนิยมที่เขมือบกินโลกทุกวันนี้อยู่หรือเปล่า เมื่อพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับคู่ครอง เราจึงนึกถึงแต่มุมโรแมนติกที่คล้ายเอานิยายประโลมโลกของคนทั่วไปมาคลุมหิญาบ ไม่ได้บอกว่าอิสลามปฏิเสธมุมโรแมนติกของชีวิตคู่ แอบโซลูทลี่ไม่ แต่ใครคิดเหมือนกันมั่งว่าความโรแมนติกในอิสลามมันเป็นคนละโรแมนติกกับที่หนุ่มสาวทั่วไปเพ้อกันอยู่ทั้งโลก เวลาเราอ่านหะดีษเรื่องความโรแมนติกของท่านนบีมันให้คนละความรู้สึกกับเวลาอ่านบทความรักๆ ใคร่ๆ ที่นำเสนอในเฟสบุ๊คประกอบภาพอาแบจ้องตาอาเด๊ะลิบลับ  อย่างแรกให้ความหวานแต่สงบ อย่างหลังออกแนวหวานชวนเพ้อ (หรือถ้าเป็นคนหัวใจไม่ดีอย่างข้าพเจ้าก็รู้สึกคลื่นไส้ไปเลย) และนี่คือสิ่งที่ตัวเองอยากตั้งเป็นหัวข้อไว้ให้พี่น้องลองไปคิดต่อ…การนำเสนอเรื่องความรักและการครองคู่ของเรา ๆ ในทุกวันนี้ มันส่งผลอย่างไรต่อหัวใจของเรา ใกล้เคียงกับความรู้สึกตอนอ่านตัวบทว่าด้วยการนิกาฮฺในอิสลาม หรือใกล้เคียงกับความรู้สึกตอนดูฉากสวีตพระ-นางในละครหัวค่ำมากกว่ากัน?


ย้ำอีกทีว่าข้าพเจ้าไม่ได้ฟันธงว่าการใช้รูปการ์ตูนชุด ‘อาเด๊ะ-อาแบรักนิรันดร์’ เหล่านี้มันผิดบาปชัดเจน  แค่อยากให้ลองคิดดูให้รอบก่อนตัดสินใจใช้กัน ไม่ใช่เห็นเขาแท๊กมา เราก็กดไลค์และแชร์โลดลูกเดียว


ทุกครั้งที่นำเสนอเรื่อง/ภาพเกี่ยวกับความรัก การนิกาฮฺ หรืออะไรพรรค์นี้ (ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าผู้นำเสนอมีจุดเริ่มที่ความปรารถนาดีล้นใจ) โปรดทบทวนอีกครั้งว่าเราได้นำเสนออย่างสอดคล้องกับเป้าหมายของบทบัญญัติเรื่องนี้ในอิสลามหรือเปล่า เป้าหมายที่ว่า “ลิตัสกุนู – เพื่อให้พวกเจ้าสงบ” ซุบฮานัลลอฮฺ – สงบ! คำนี้น่ารักที่สุดแล้วในบรรดาคำที่ถูกเลือกใช้เกี่ยวกับการครองคู่…แท้ที่จริงบทบัญญัติเรื่องนี้มีมาก็เพื่อเรา ๆ จะได้สงบ ไม่ใช่ฟุ้งซ่าน เวิ่นเว้อ และเพ้อไปสามวัน


ลองถามตัวเองว่า เราเคยได้พบความสงบใจบ้างไหม…จากเรื่องราวโรแมนติกของนิยายหวานแหวว ละครหลังข่าว หรือรูปภาพ ‘อาเด๊ะน่าแล-อาแบน่ารัก’ที่ออกงานคู่กันเกลื่อนเฟสบุ๊คอยู่ทุกวัน!

– ใ น ทุ ก ๆ วั น –

أَصْبَحْتُ وَمَالِيْ سُرُوْر إِلاَّ فِي مَوَاقِعِ الْقَضَاء وَالْقَدَر

“ฉันตื่นขึ้นมาในทุกเช้าโดยไม่มีสิ่งใดเป็นความรื่นรมย์สุขใจ

นอกจากว่าทุกสิ่งที่ประสบนั้นเป็นการกำหนดของอัลลอฮฺ”

[อุมัร บิน อับดุลอะซีซ|ญามิอุลอุลุมวัลหิกัม หน้า 456]

 

เมื่อปีกลาย พี่คน ๑ ให้ยืมหนังสือเล่มดังของสำนักพิมพ์เด็กแนวแห่งวงการหนังสือบ้านเรา เป็นเรื่องของคนที่ออกจากงานมาอยู่กับบ้าน  ขายดีเชียว ล่าสุดพิมพ์ครั้งที่ ๘ เข้าไปละ พาร์ทที่รู้สึกจี้เส้นเป็นการส่วนตัวคือหลังจากที่คนเขียนเขาวางแผนอย่างดิบดีมายาวนานว่าจะออกจากงานท่ามกลางเหตุผลร้อยแปดพันเก้าว่าด้วยความไม่คูลของชีวิตคนทำงาน ปรากฏว่าพอมาอยู่กับบ้านจริงๆตามใฝ่ฝัน เขากลับต้องเผชิญภาวะสติแตก  ทั้งด้วยความจำเจ ความไม่มีอะไรทำ และสารพัดคำถามแทงใจจากคนรอบกาย


ขำ…เพราะเขาเขียนตลกดี แสดงภาวะจิตตกอย่างเห็นภาพ แต่ถ้าถามประสบการณ์ส่วนตัว (ซึ่งตอนนี้ถ้าให้ไปกรอกประวัติที่ไหนก็เห็นจะกรอกในช่องความถนัดว่า…การอยู่บ้าน – รู้สึกตัวเองเชี่ยวชาญด้านนี้มากที่สุดแล้ว สำหรับชีวิต ณ จุดนี้) ไม่เคยเจอช่วงเวลาแบบนั้นเลย ตลอดหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา อัลฮัมดุลิลละฮฺ


จริง ๆ ไม่ต้องพูดถึงชีวิตคนอยู่กับบ้านเป็นการเฉพาะหรอกเนอะ เพราะทุกชีวิตที่มีวงจรแต่ละวันค่อนข้างจะซ้ำเดิม ไม่ว่าจะพนักงานออฟฟิศหรือแม่บ้าน ถ้าไม่รู้จักระบายสีใหม่ ๆ ให้หัวใจบ้าง อาการคลุ้มคลั่งกับสภาพชีวิตเดิม ๆ ก็อาจระเบิดขึ้นมาได้ทุกเมื่อเท่า ๆ กัน


แต่….ดีใจจัง– อาการนั้นมันไม่ได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้นกับผู้ศรัทธา…คนที่รู้ว่าทุกสิ่งในชีวิตของเขาไม่ว่างเปล่าและไม่เคย


ระหว่างยามเช้าทีเราตื่นตาถึงค่ำคืนที่เราหลับลง ท่ามกลางการหมุนเคลื่อนของเวลาวันแล้ววันเล่าภายใต้สภาพการณ์ของชีวิตเราที่ไม่ได้แตกต่างอะไรกันนักในแต่ละวัน มันมีความท้าทายยิ่งใหญ่…

ท้าทายว่า วันนี้…เราจะเพิ่มเสบียงน่ารักใดในบัญชีด้านขวาของเราได้บ้าง และจะมีสิ่งไม่น่ารักใดในบัญชีด้านซ้ายของเราได้ลบไปอันเนื่องจากการอิสติฆฟาร หรือการประสบบททดสอบประจำวันมั้ย


…วิธีคิดอย่างหลังนี่น่ารักนะคะ เคยเห็นไหม คนที่แทบจะกระโดดด้วยความดีใจเมื่อโดนหนามตำ หัวโขกประตู พลาดรถเมล์สายที่รอประมานสามพันปีแสง(อธิพจน์โวหาร) และอะไรต่อมิอะไรที่เป็นความเจ็บปวดจี๊ดใจเล็ก  ๆ น้อย ๆ ของชีวิตแต่ละวัน (ส่วนพวกบททดสอบอลังการจะมีความหอมมันจัดหนักกว่า แต่มันมักไม่ใช่เรื่องรายวันที่เรากำลังพูดถึง บางทีอยู่กันเป็นปีจนซี้กันเลยทีเดียว) เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ กลายเป็นเรื่องสนุกประจำวันได้ ถ้าเรามองมันอย่างลึกซึ้งพอ


ส่วนการสะสมบัญชีด้านขวาก็มีความสนุกสนานน่ารื่นรมย์ไม่แพ้กัน มันน่าตื่นเต้นไหมเล่าว่าวันนี้เราจะได้รับความรู้อะไรเพิ่มขึ้นอีกจากคัมภีร์ของอัลลอฮฺที่เราศึกษา จะมีบ่าวคนไหนของพระองค์ที่เดือนร้อนผ่านมาให้เราได้ทำหน้าที่พี่น้องที่ดี แม้ในอิบาดะฮฺที่เราทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างการละหมาด ก็ยังน่าตื่นเต้นว่าวักตูละหมาดหนึ่ง ๆ ที่เราจะประกอบทำนั้น อัลลอฮฺจะให้เราได้ชิมรสหวานมั้ย และสักแค่ไหน


(มีเครื่องปรุงรสชาติอย่างหนึ่งในการละหมาดแต่ละวันที่พี่น้องนักชิมหลายท่านคงได้เอร็ดอร่อยอยู่แล้ว อย่างทีเรารู้กันว่าเวลาละหมาดนั้นเป็นไปตามตำแหน่งดวงอาทิตย์ของอัลอฮฺ  ฉะนั้นการได้พิจารณาแสงเงาของตะวันมันเป็นการเพิ่มพูนความซาบซึ้งในความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺอย่างหนึ่ง เราจะพบตัวเองก้มกราบต่อพระองค์อยู่ในความมืดมัวของรุ่งสาง จากนั้นก็อยู่ในแสงจ้าของเที่ยงวัน แสงจางของบ่ายคล้อย แสงสลัวของย่ำค่ำ และมืดมิดของกลางคืน…เรามาพบอัลลอฮฺตลอดปรากฏการณ์แห่งแสงของวันหนึ่ง ๆ เรามาเคาะประตูของพระองค์ สนทนากับพระองค์ เหมือนมันเป็นหมุดที่ปักชีวิตประจำวันของเราไม่ให้ไปไหนห่างไกลจากอัลลอฮฺเลย ซุบฮานัลลอฮฺ)


ความตื่นเต้นในกำหนดของอัลลอฮฺเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของชีวิต มันตื่นเต้นอยู่ในความสงบ ทั้งกำหนดเล็ก ๆ ประจำวัน และกำหนดใหญ่ ๆ ของชีวิตที่ไม่รู้จะโผล่เข้ามาในวันไหน เราต่างวางใจในอัลลอฮฺแต่ไม่หยุดนิ่งต่อการพร่ำบอกพระองค์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเราปรารถนาความช่วยเหลือของพระองค์มากจริง ๆ  เราขอดุอาอฺมากมายก่ายกองต่อพระองค์ด้วยหวังเปี่ยมล้นในการตอบรับและรอคอยการตัดสินของพระองค์ในเรื่องต่าง ๆ ที่เรายื่นฟ้องร้องไป แต่ละวันของเรามีชีวิตชีวาได้ด้วยความหวังนี้  วิญญาณของเราอิ่มได้ด้วยความผูกพันนี้ และนี่คือความหมายของตื่นเต้นที่บอก คือมันรู้สึกมีพลัง กระชุ่มกระชวย ไม่ใช่ตื่นเต้นแบบร้อนรนอยู่ไม่ติดที่ สงบนิ่งแต่ไม่เฉื่อยชา มีชีวิตชีวาแต่ไม่ไฮเปอร์ฯ


เห็นไหมว่าแต่ละวันของผู้ศรัทธา ไม่มีอะไรให้เบื่อเลย


ปลื้มจริงปลื้มจังกับคำพูดของท่านอุมัร บินอัลดุลอะซีซที่เอามาเปิดบทความนี้  มันแสดงความพิเศษสุด ๆ ของชีวิตธรรมดา ๆ ในแต่ละวันของผู้ศรัทธา…ถ้าเราพอใจในอัลลอฮฺ ตราบที่เรายังอยู่บนการภักดีต่อพระองค์…เราก็จะพอใจในชีวิต ไม่ว่ามันจะหมุนวนไปอย่างไร ที่ไหน สภาพใด


เราพอใจ..เพราะทุกเรื่องราว ทุกสภาพ ทุกรายละเอียดที่เราได้พบเจอนั้น…มาจากผู้ที่เราพอใจยิ่ง และรักที่สุด


“فَمَنْ رَضِيَ فَلَهُ الرِّضَا”

“ผู้ใดพอใจ (ในบททดสอบของอัลลอฮฺ) เขาก็จะได้รับความพอใจ (จากอัลลอฮฺ)”
[จากหะดีษบันทึกโดยติรมิซี]

– ค น ขี้ ข อ –


อัดดุอาอฺเป็นอิบาดะฮฺที่ฉันว่ามันพิเศษจัง
เหมือนกับว่าเราไม่มีต้นทุนอะไรที่ต้องลง-ไม่มีเลย


โอเค การละหมาด การอ่านอัลกุรอาน การถือศีลอด หรืออิบาดะฮฺแสนดีอะไรอื่นๆ มันยอดเยี่ยมและก็หวานหอมชนิดเฉือนกันไม่ลง  แต่ก็…มีบ้างแหละน่า…บางครั้ง-บางครา กระทั่ง…หลายครั้ง-หลายครา…ที่เหมือนกับว่าเราต้องต่อสู้กับอะไรเยอะแยะหลายอย่างเพื่อที่จะทำอิบาดะฮฺเหล่านั้น  ตั้งแต่สิ่งรบเร้าภายนอก ไปจนถึงความขี้เกียจ ความเหนื่อยล้า และความอะไรต่อมิอะไรของตัวเราเองที่น่าเขกกะโหลกแรงๆ


คือมันมีตัวกิจกรรมที่เราต้องทำแลกกับความดีและความแข็งแรงของหัวใจจากอิบาดะฮฺเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นเดินไปยืนละหมาด การหยิบอัลกุรอานมาเปิดอ่าน หรือการอดอาหาร(และอีกหลายอด) ฯลฯ

แต่กับดุอาอฺ กิจกรรมของมัน-ที่ไม่รู้ว่าควรนับเป็นกิจกรรมหรือเปล่า- ก็คือ “ขอ” มันเป็นกริยาตัวเดียวที่ต้องใส่ไปในอิบาดะฮฺชนิดนี้ จะยืนขอ นั่งขอ นอนขอ เวิร์บหลักก็คือ “ขอ” อยู่นั่นเอง และมันเป็นแอ๊คชั่นที่นึกไม่ออกว่าเราต้องลงแรงอะไรบ้าง ต้องต่อสู้กับข้าศึกทั้งภายนอกภายในเยอะเท่าพวกแอ๊คชั่นในอิบาดะฮฺอื่นๆหรือ? คิดว่าไม่นะ!

ตัวกริยาหลักของอิบาดะฮฺชนิดนี้มันง่ายจริง ง่ายจัง  แต่ผลลัพธ์ช่างอัศจอรอหันการันยอนัก เป็นความอัศจรรย์ที่เชื่อว่าทุกผู้ขอต้องเคยประสบ พบ และรักหมดใจ  อธิบายไม่ได้ แต่สัมผัสได้…ด้วยตัวเอง

وَقَالَ رَبُّكُمُ ادْعُونِي أَسْتَجِبْ لَكُمْ﴿

“และพระผู้เป็นเจ้าของพวกท่านได้มีดำรัสว่า จงขอต่อข้าเถิด แล้วข้าจะตอบรับพวกเจ้า”

[อัลฆอฟิร 40 : 60]

 
แต่ก็นั่นแหละ มันมีกติกา มีมารยาท มีรายละเอียดในการขอดุอาอฺอยู่หลายอย่างที่ผู้ขอควรต้องศึกษาและลงมือทำเพื่อความเป็นผู้ขอมืออาชีพซึ่งย่อมส่งผลต่อผลลัพธ์ในการขอ ถึงอย่างนั้น ตัวฉันเองก็ยังรู้สึกว่าอัลลอฮฺช่างเมตตาเหลือเกิน…เหลือเกินจริงๆนะ ที่กำหนดอิบาดะฮฺนี้มาให้เรา ที่สอนให้เรารู้จักมัน


إن الله حي كريم يستحي إذا رفع العبد إليه يديه أن يردهما صفرا خائبتين
“แท้จริงอัลลอฮฺ ผู้ทรงชีวิน ผู้ทรงใจบุญนั้น ทรงละอายกับการที่บ่าวคนหนึ่งได้ยกสองมือขึ้นวอนขอต่อพระองค์

แล้วจะต้องนำมือทั้งสองกลับไปอย่างว่างเปล่า ไม่มีอะไรติดมือกลับไป”
[รายงานโดยติรมิซี อิบนุมาญะห์ และอิบนุหิบบาน ; อิบนุฮะญัรกล่าวว่าเป็นหะดีษหะสัน]


ซุบฮานัลลอฮฺ! เมตตากว่านี้…ใจดีกว่านี้…มีอีกไหม? ตอบเลยว่าไม่มี-ร้อยไม่มีพันไม่มี!
บางทีสิ่งที่เราหวัง เราอยากได้ มันก็เยอะแยะตาแป๊ะซะจนถ้าผู้รับฟังคำขอเป็นมนุษย์คงตวาดไล่เราไปแล้ว แม้แต่ขอเองบางทีก็ยังต้องถามตัวเองว่า…จะเอาอะไรนักหนา หา? แต่มันอธิบายไม่ถูก สำหรับพระองค์ผู้เดียวผู้นี้ ยิ่งขอ…ยิ่งผูกพัน รู้ว่าจะไม่ถูกไล่ เชื่อว่าจะได้รับการรับฟัง ที่สุดของที่สุดก็คือ บางครั้งคุณสมบัติของเรา การทำตัวของเรา มันแย่ซะจนไม่คู่ควรจะได้รับในสิ่งที่ขอ แต่พระองค์ก็ยังให้…


แล้วมันก็กลายเป็นการให้๒ต่อ คือให้ตามที่เราขอ และให้เราได้สำนึกตัวด้วยความละอายแก่ใจ เราทำตัวไม่น่ารักเลย แต่อัลลอฮฺก็ยังให้  จึงหลายครั้งเต็มที ที่เราไม่ได้กลับเนื้อกลับตัวเพราะการคิดได้ หรือความดีงามแฝงเร้นอะไรในตัวเราเลย แต่เป็นเพราะความเมตตาของอัลลอฮฺมันมากจนเราอกตัญญูไม่ลง ปิดทางจริงๆ ประมาณว่าถ้ายังเป็นคนอยู่ เจอความเมตตาขนาดนี้แล้วยังเนรคุณอีกก็พิจารณาตัวเองด่วนๆได้แล้ว


เรื่องมหัศจรรย์ของดุอาอฺที่ทำให้เราหลายคนรัก – เคยรัก – และยังรัก การเป็นคนขี้ขออยู่เสมอ หลายครั้งก็ไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะบุคคล แต่ความมหัศจรรย์ในเรื่องนี้มันแผ่ผลลัพธ์เป็นวงกว้างครอบคลุมทั้งญะมาอะฮฺในชีวิตของเราๆ เลยที่เดียวเชียว


หลายครั้งเวลาปรึกษาปัญหาทั้งขนาดเท่าอีเอ็มบอลไปจนถึงแนวบิ๊กแบ๊ก…กับพี่น้องบางคน  เขาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้เรานอกจากบอกว่า “จะช่วยดุอาอฺให้นะ”
“จะช่วยดุอาอฺให้นะ”
“จ  ะ   ช่  ว  ย  ดุ  อ า  อฺ  ใ  ห้  นะ”
“จ    ะ     ช่    ว    ย    ดุ    อ   า    อฺ    ใ    ห้    นะ”

ฟังแล้วก็แทบไม่อยากได้อะไรเพิ่มอีกแล้ว มันอาจดียิ่งกว่าการที่เขาช่วยด้วยการกระทำจริงด้วยซ้ำ เพราะเขาช่วยเราไม่ได้ในความสามารถของเขา แต่เขาได้เอาเรื่องของเราไปฝากไว้กับผู้ทรงสามารถทุกสิ่ง
ผู้ทีเพียงกล่าวว่า “จงเป็น” ทุกอย่างก็จะเป็นขึ้น


เช่นเดียวกัน…เมื่อมีพี่น้องบอกกับเราว่า “ช่วยดุอาอฺให้ด้วยนะ”
“ช่  ว  ย  ดุ  อ  า  อฺ  ใ  ห้  ด้  ว  ย  นะ”
“ช่   ว   ย   ดุ   อ   า   อฺ  ใ   ห้   ด้   ว   ย   นะ”

แน่นอนว่าตัวเขาเองก็ต้องขอดุอาอฺในส่วนของเขาอยู่แล้ว แต่เขาให้เกียรติเราได้ร่วมเป็นผู้ถือเรื่องของเขาไปยื่นต่อผู้อภิบาลของเราและของเขา เขาให้เกียรติในความผูกพันระหว่างเรากับผู้อภิบาลของเรา…ว่าต้องมีส่วนช่วยเรื่องของเขาได้บ้าง มันน่าดีใจ น่าปลื้มใจ เท่าๆกับที่น่าจดในหัวใจว่าเราได้รับอมานะฮฺ๑มาจากพี่น้องแล้ว ยิ่งใหญ่เชียวด้วย อย่าได้ดูดายเด็ด

ฉันชอบคิดถึงภาพแบบนี้…แบบที่พี่น้องคน๑ขอดุอาอฺในสิ่งที่เขาอยากได้ และเขาก็ขอให้พี่น้องที่ฝากให้เขาช่วยขอดุอาอฺให้ ขณะเดียวกันพี่น้องคนที่เขาขอดุอาอฺให้นั้นก็ขอดุอาอฺในเรื่องของตัวเอง แล้วก็ขอดุอาอฺในเรื่องที่พี่น้องคนแรกฝากไว้ด้วย แล้วก็จะมีพี่น้องคนที่๓ คนที่๔ และคนที่ไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ทำแบบเดียวกันให้แก่กันและกัน

ทั้งหมดนั้นอัลลอฮฺเห็น อัลลอฮฺได้ยิน…อัลลอฮฺเห็นความผูกพัน ความห่วงใยที่คนพวกนี้มีต่อกันผ่านการอิบาดะฮฺต่อพระองค์…พวกเขารักกัน แต่ก็รู้ว่าลำพังความสามารถของตัวเอง…พวกเขาช่วยอะไรกันไม่ได้ แต่พระองค์ช่วยได้ และพวกเขาก็ขอต่อพระองค์ให้กันและกัน อัลลอฮฺทรงเห็นทั้งหมด ได้ยินทั้งนั้น เรื่องราวการขอที่อีรุงตุงนังของคนเหล่านี้ คนนี้ขอให้คนนั้น คนนั้นขอให้คนนี้ ทั้งหมดเป็นไปเพราะพวกเขารู้ว่าพระองค์เท่านั้นที่ช่วยเหลือพวกเขาและคนที่พวกเขารักได้
น่ารักได้อีกเนอะ…ความสัมพันธ์ของผู้ศรัทธาที่มีผ่านดุอาอฺ

ใช่แหละว่า มันก็มีอยู่ที่ดุอาอฺเราไม่ได้รับการตอบรับ หรือยังไม่ได้รับการตอบรับ…แบบที่ดวงตามองเห็น แต่หากเราพิจารณาแล้วว่าเราไม่ได้ทำอะไรไปเข้าข่ายผู้ที่ดุอาอฺจะไม่ถูกตอบรับโต้งๆ (คือมันอาจมีกรณีเข้าข่ายแบบที่ไม่รู้ตัวอยู่ แต่ขอพูดเฉพาะที่รู้แล้วกัน) ที่สุดแล้ว…การที่ผลลัพธ์ของดุอาอฺนั้นจะเป็นอย่างไร มันไม่สำคัญมากไปกว่าการที่เราได้ขอเลยจริงๆ  เรายื่นเรื่องให้ผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างมั้งมวลทั้งมวลช่วยจัดการแล้ว เราขอด้วยความปรารถนาแรงกล้าสุดฤทธิ์ และพยายามทำตัวเป็นบ่าวที่น่ารักที่ดุอาอฺจะได้รับการตอบรับอย่างสุดเดช แต่สุดท้าย ถ้าอัลลอฮฺไม่ประสงค์จะให้ตามที่เราขอ นั่นก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราแล้ว เพราะพระองค์รู้ดีกว่าเราตั้งเท่าไหร่


ดุอาอฺเป็นอิบาดะฮฺที่สุดๆ…สุดๆในความเมตตาของอัลลอฮฺ สุดๆในความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และสุดๆอ่ะถ้าเรายังเมินเฉยต่ออิบาดะฮฺที่มีแต่ได้กับได้อันนี้ลงคอ

ว่ากระนั้นแล้ว ก็มาเป็นนักขอมืออาชีพกันเถอะ เป็นนักขอที่รู้และทำตามกติกามารยาทในการขอ เป็นนักขอที่พร้อมจะขอในทุกสภาพการณ์ ที่สำคัญ…เป็นนักขอที่เมื่ออยู่ต่อหน้ามนุษย์…เขาคือคนที่ราวกับว่าไม่มีอะไรอยากได้เลย แต่ต่อหน้าผู้สร้างมนุษย์…เขาคือคนที่ขี้ขอที่สุดในโลก!

– เ ชื่ อ มั่ น ใ น อั ล ล อ ฮฺ –


คำว่า “เชื่อมั่น” นี่น่าจะตรงกับภาษาอาหรับว่ายะกีน (اليقين) หรือยะเก่นที่โต๊ะๆ แชร์ๆ ออกเสียงกัน จริง ๆ ความหมายในภาษาไทยเค้าก็น่ารักดีนะคะ – “เชื่อมั่น”…มันเหมือนเป็นขั้นกว่าของ “เชื่อ” คือ ไม่ใช่เชื่อธรรมดานะ แต่เชื่ออย่างมั่นๆ กอมูสบางเล่มมอบความหมายภาษาอังกฤษแก่ยะกีน ว่า “Undobouted”…ไม่สงสัยใดใดทั้งสิ้น เชื่อหมดจิตหมดใจ…ลา-ร็อยบ์ (لا ريب) อย่างแท้จริง


อดีตนายกฯ ประเทศ๑ในดาวเคราะห์ดวงสีน้ำเงินเคยจัดรายการทุกเช้าวันเสาร์ ใช้ชื่อประมาณว่า “เชื่อมั่นประเทศใคร” (นามสมมุติ) แค่ฟังก็ขนลุกเกรียว ถ้าเราต้องเชื่อมั่นในประเทศใครแห่งนั้นด้วยความหมายหมายเต็มของยะกีน ไม่อยากคิดเลยว่ามันจะเป็นความเชื่อที่นำพาชีวิตเราไปสู่ความมั่นคงชนิดไหน


จริงๆ มันเปรียบกันไม่ได้หรอกเนอะ ความเชื่อมั่นตามชื่อรายการนั้น กับความเชื่อมั่นในชีวิตมุสลิม  แต่ยิ่งได้เจอความเชื่อมั่นในเรื่องต่างๆ ของผู้คนที่ไม่ได้น้อมรับอิสลาม ยิ่งซาบซึ้งว่า…มันดีแค่ไหน ที่เราได้รู้จักการเชื่อมั่นในอัลลอฮฺ


เป็นเรื่องจริงที่สุดที่ชีวิตมนุษย์ต้องการความเชื่อมั่นในอะไรบางสิ่ง บางคนเชื่อมั่นในตัวเอง บางคนเชื่อมั่นในผู้นำ บางคนเชื่อมั่นในอุดมการณ์ทางการเมือง บางคนเชื่อมั่นในอำนาจของเงิน  และบางคนเชื่อมั่นในความไม่เชื่อมั่นใดใด แต่จะมีความเชื่อมั่นไหนมั่นคงได้เท่าความเชื่อมั่นของผู้ศรัทธา มันงดงามและส่องสว่าง เพราะเราไม่ได้เชื่อมั่นต่อสิ่งที่อาจถูกหรืออาจผิด สิ่งที่อาจช่วยเราได้หรือไม่ได้ สิ่งที่แม้แต่ตัวเองก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้อื่น ทว่าเราเชื่อมั่นในผู้ที่ไม่มีทางผิด ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ไม่มีอะไรที่เป็นขึ้นไม่ได้หากพระองค์ตรัสว่า “จงเป็น”


ถึงอย่างนั้น…หลายครั้ง เราก็ยังเชื่อมั่นไม่มากพอ!


ความเชื่อมั่นที่มากท้นนี่สำคัญเหลือเกินนะคะสำหรับการใช้ชีวิตของเรา…ชีวิตที่มันสั้นสุดสั้น แต่ก็ไหวหวั่นได้สุดแรงถ้าไม่มีหลักยึดที่มั่นคงพอ  บางครั้ง ใจเรามันก็โคลงเคลง ร้อนรน อยากจะให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการซึ่งยังมาไม่ถึง หลายครั้ง ปัญหาที่มันมีพลังมากเพราะเข้ามาพร้อมกันเป็นญะมาอะฮฺก็ทำให้เรารู้สึกซวนเซจวนล้ม เกือบหลุดปากบ่นบ้าไปก็หลายหน ว่าทำไมฉันต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ ทำไมไอ้โน้นไม่เป็นอย่างนั้น ไอ้นั้นไม่เป็นอย่างนี้ ร้ายกาจที่สุดก็ตรงที่ ความอ่อนแอของเราอาจนำไปสู่จุดที่ตั้งคำถามกับอัลลอฮฺโดยไม่รู้ตัว ทำไมอัลลอฮฺไม่ช่วยเรา ทำไมสัญญาของอัลลอฮฺมาไม่ถึงสักที ทำไมและทำไม


ทั้งที่ หากเราเชื่อมั่นในใครสักคนอย่างที่สุด เชื่อมั่นในความรู้รอบของเขา ในการเลือกสรรของเขา ว่าดีกว่าเราแน่นอน  เราย่อมจะไม่ตั้งคำถามว่า “ทำไม…” กับการตัดสินของเขา  หากจะตั้งจริงๆ เราก็จะตั้งกับตัวเองมากกว่า  นั่นคือเราจะไม่ถามว่าทำไมอัลลอฮฺไม่ตอบรับดุอาอฺของฉัน แต่เราจะถามว่าทำไมดุอาอฺของฉันไม่ถูกตอบรับจากอัลลอฮฺ


เราจะไม่ถามว่า “ทำไม…” กับผู้ที่เราเชื่อมั่นสุดหัวใจ


เมื่อหัวใจได้เชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺอย่างเต็มที่ ก็อย่ากังวลเลยกับอุโมงค์มืดมิดของชีวิตที่ยาวไกลแบบมองไม่เห็นแสงสว่างใดที่ปลายทาง หลายคราวเชียวล่ะ ที่ความช่วยเหลือของอัลลอฮฺได้มาถึงในช่วงเวลาที่ไร้วี่แววที่สุด แด่หัวใจที่เชื่อมั่นที่สุด ช่วงเวลาที่สาหัสจนคนอื่นอาจเตลิดหนี อาจคร่ำครวญเพราะมองไม่เห็นทางออกใด แต่ผู้ที่ในอกของเขาบรรจุหัวใจที่เชื่อมั่นเปี่ยมเต็มเอาไว้ มันกลับคือช่วงเวลาที่หวานที่สุด ความเชื่อมั่นหมดจิตหมดใจเป็นอย่างไร และผลตอบแทนของมันเป็นอย่างไรน่ะหรือ?…


ก็เป็นความเชื่อมั่นในหัวใจของนบีมูซาอะลัยฮิสสลาม ขณะท่านพาไพร่พลหนีฟิรเอาน์มาจนมุมที่ทะเลแดง เบื้องหน้าคือผืนน้ำกว้างใหญ่ เบื้องหลังคือกองทัพมโหฬารของศัตรู และข้างๆคือคนที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันซึ่งกล่าวอย่างสิ้นหวังว่า “เราถูกตามทันแน่แล้ว” หัวใจดวงนั้นทำให้นบีมูซาตอบท่ามกลางปัจจัยสุดสาหัสที่รายล้อมว่า “ไม่ แท้จริงที่อยู่กับฉันคือพระเจ้าของฉัน พระองค์จะทรงชี้ทางออกให้ฉัน” …แล้วทะเลอันกว้างใหญ่นั้นก็แยกออก กลายเป็นบทเรียนให้มนุษย์ได้ศึกษาเรื่อยมาจนปัจจุบัน


เป็นความเชื่อมั่นในหัวใจของนางหะญัร เมื่อสามีนำเธอและลูกน้อยไปปล่อยทิ้งไว้กลางทะลทรายไร้ร่มเงาและแหล่งอาหารใดในสายตา หากเพียงได้รู้ว่าสิ่งทีเกิดขึ้นนี้เป็นคำบัญชาของผู้อภิบาล หัวใจดวงนั้นก็ทำให้เธอกล่าว ขณะสามีกำลังจะจากไปว่า “ถ้าอย่างนั้นพระองค์ย่อมจะไม่ทอดทิ้งเรา”…แล้วพื้นที่แห่งนั้นก็กลับผุดขึ้นซึ่งตาน้ำอันยังรินเรื่อยมาจนปัจจุบัน


เป็นความเชื่อมั่นในหัวใจของท่านนบีมุฮัมมัดศอลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ขณะหลบภัยอยู่ในถ้ำพร้อมสหายเพียงคนเดียว ในสภาพที่ไม่ได้มีอาวุธยุทโธปกรณ์หรืออุปกรณ์ยังชีพใด และหน้าปากถ้ำอันเล็กแคบนั้นคือกลุ่มคนที่ตามไล่ฆ่าท่านอย่างกระหาย หัวใจดวงนั้นทำให้ท่านนบีมุฮัมมัดกล่าวแก่สหายของท่านในขณะที่ความตายจ่ออยู่ตรงหน้าว่า “อย่าเสียใจ แท้จริงอัลลอฮฺทรงอยู่กับเรา”…แล้วพวกนักฆ่าที่เพียงเหลือบตาลงมาก็จะเจอคนที่เขาพลิกทะเลทรายหาก็กลับมองไม่เห็นท่านนบี กระทั่งท่านได้ถึงจุดหมายแห่งการฮิจเราะฮฺและประกาศศาสนาแห่งสัจธรรมอันดำรงอยู่เรื่อยมาจนปัจจุบัน


และหัวใจอีกมากมายดวงในหน้าประวัติศาสตร์ ที่ตอกแล้วย้ำอีกว่าเมื่อความเชื่อมั่นได้ยึดครองพื้นที่ทั้งหมดของก้อนเนื้อขนาดเท่ากำปั้นในอกของผู้ใดแล้ว ชีวิตของเขาจะงดงามและมหัศจรรย์สักแค่ไหน


ในทุก ๆ วัน เราหลายคนกำลังรอคอยอะไรบางอย่าง และ/หรือหลายอย่าง มนุษย์ถูกสร้างมาเป็นผู้คอย แน่ล่ะว่า บางเรื่องของการรอคอยมันชวนให้หัวใจรู้สึกไม่ค่อยสบาย หลายทีหลายหน…เมื่อการรอคอยนั้นยืดเยื้อ เราเริ่มคาดหวังความช่วยเหลือจากคนนั้น-คนนี้…คนที่เขาก็กำลังรอคอยความช่วยเหลือจากผู้อื่นอยู่เหมือนกัน ทั้งที่จริงแล้วผู้ที่ช่วยเหลือเราได้มีเพียงผู้เดียว ผู้เดียวจริงๆ


ฉะนั้น ขอเราจงมีกำลังใจ ในงานที่ทำ ในกำหนดที่คอย ในปัญหาที่สะสาง ในขวากหนามที่ฝ่าฝัน วางหัวใจไว้ที่อัลลอฮฺ เชื่อมั่นในพระองค์แบบสุดขั้วหัวใจ เชื่อแบบไม่เหลือข้อสงสัยใด ปราศจากโดยสิ้นเชิงซึ่งความลังเล อาจมีใครหลายคนที่อัลลอฮฺส่งความช่วยเหลือของพระองค์ผ่านมาทางพวกเขา นั่นเป็นเรื่องที่เราต้องขอบคุณอัลลอฮฺและขอให้พระองค์ตอบแทนผู้ช่วยเหลือเรานั้นด้วยการตอบแทนสำหรับชาวอันศอร  แต่อย่าได้ฝากเรื่องของเราไว้กับบรรดาผู้ช่วยเหลือทั้งหลายเลย ชีวิตที่ผ่านมาหลายฤดูกาลของเราไม่ได้สอนเราครั้งแล้วครั้งเล่าหรือว่า เมื่อใดที่เราฝากความหวังไว้กับมนุษย์คนใด เรื่องมักจะยุ่งขิงเสมอ แต่เมื่อหัวใจเราฝากหวังไว้แต่เฉพาะอัลลอฮฺ ทุกเรื่องมันง่ายจัง บางที…ก็อาจไม่ใช่ง่ายเพราะปราศจากอุปสรรคสิ้นทุกอย่าง แต่มันง่ายเหลือที่ก็เพราะหัวใจเราสงบแน่นนัก ผิดกับตอนที่ฝากหวังไว้กับมนุษย์อย่างลิบตา


โอ้ผู้ทรงสร้างดวงตายุงและดวงตะวัน
โอ้ผู้ทรงมองเห็นการเคลื่อนที่ของอะตอมและการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก
โอ้ผู้ทรงได้ยินเสียงกระพือปีกของแมลงตัวเล็กที่สุดในพิภพและเสียงระเบิดของภูเขาไฟลูกใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน
โอ้ผู้ทรงรอบรู้ถึงจำนวนเม็ดทรายใต้มหาสมุทรและจำนวนละอองน้ำในชั้นบรรยากาศ
โอ้ผู้ทรงดูแลการเดินแถวของมดและการโคจรของดวงดาวในจักรวาล
…ข้าพระองค์ขอมอบเรื่องราวหนักหน่วงของชีวิตนี้ไว้  ณ ที่พระองค์ ดังนั้นโปรดจัดการเรื่องราวของมันด้วยการจัดการที่พระองค์จะทรงทำกับชีวิตบ่าวที่พระองค์รักเขาและเขาก็รักพระองค์
…ข้าพระองค์ขอวางหัวใจอันไหวอ่อนนี้ไว้ ณ ที่พระองค์ ดังนั้นโปรดบรรจุมันให้เต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นในพระองค์แบบที่พระองค์ได้เคยบรรจุไว้ในหัวใจบ่าวที่พระองค์รักเขาและเขาก็รักพระองค์
…โอ้ผู้เป็นที่มอบหมายของชีวิตและที่พักวางของหัวใจ ตลอดชีวิตที่ผ่านมาของข้าพระองค์ ราวกับว่าไม่มีเรื่องใดเลยที่ผ่านเข้ามา ไม่มีใครเลยที่ได้พบ ไม่มีปรากฏการณ์ใดเลยที่ได้ประสบ นอกจากมันได้ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก บอกย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่า…ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่คู่ควรแก่การมอบหมายของหัวใจ เฉพาะพระองค์ผู้เดียว…ผู้เดียวจริงๆ

ง ม ฝั น ใ น ม ห า ส มุ ท ร


สัก ๑ ครั้งในชีวิตวัยเด็กแหละเนอะ ที่เราต้องเคยเจอคำถามว่า “โตขึ้นแล้วอยากเป็นอะไร” อย่างน้อยก็จากครูอนุบาลหรือผู้ใหญ่ใกล้ตัว แล้วคำตอบของเด็กผู้หญิงประมาณสักครึ่งห้องก็จะดังแจ้วๆขึ้นมาเชียวว่าอยากเป็นครู ส่วนเด็กผู้ชายอีกย่างน้อยโหลนึงต้องอยากเป็นตำรวจแหงแซะ โลกอายุไม่กี่ฤดูหนาวตอนนั้นจะมีสักกี่อาชีพกันที่เรารู้จัก เราไม่รู้หรอกว่าในโลกนี้ยังมีอาชีพแปลก ๆ อีกสารพัด ตั้งแต่นักพัฒนาซอฟแวร์ไปจนถึงคนรับจ้างต่อแถวซื้อคริสปี้ครีม

(แต่จริงๆ คำถาม “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงอาชีพสักหน่อยเนอะ เด็กบางคนตอบว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นผู้ใหญ่” (ความฝันนี้ดีนะ เพราะมีบางคนเหมือนกันที่ยิ่งโตยิ่งเป็นเด็ก) ซึ่งฟังดูโอเคกว่าน้องหนูอีกคนที่บอกว่า “โตขึ้นผมอยากเป็นช้าง” ตานี้ ครูก็เลยไม่รู้จะให้กำลังใจยังไงดี)

พอโตพ้นวัยอนุบาลมา ได้พบกับครูฝ่ายปกครองผู้มีไม้เรียวขนาดสามคนโอบเป็นอาวุธประจำกาย กับตำรวจจราจรที่ตั้งด่านดักรถพ่อแม่เราอยู่ทุกสิ้นเดือน  สองอาชีพที่ชนะโหวตในชั้นเรียนอนุบาลก็ดูจะห่างไกลจากความปรารถนาของผู้คนไป เรื่อยๆ เท่า ๆ กับที่ความใฝ่ฝันประการใหม่ ๆ ก็ผุดพรายขึ้นมาใจเราเรื่อย ๆ เด่นชัดนักสำหรับบางคน และดูลางเลือนสับสนสำหรับอีกบางคน แต่ให้ยังไง ก็จะมีวัยหนึ่งของชีวิตเราที่รู้สึกว่ามีความฝันอยากไล่ตาม

วัยรุ่นคนหนุ่มสาวทั่วไปพูดกันเรื่องความฝันนี้เยอะมาก จริงๆข้าพเจ้าก็ไม่ค่อยจะถูกกับพวกหนังสือหรือบทความแนวให้กำลังใจ โพสิทีฟธิงคิ่ง หรืออะไรทำนองนี้นักหรอก แต่ก็ได้อ่านผ่านตาอยู่เรื่อยๆ จากนักเขียนคนดังในแนวนี้สอง-สามคนที่เขียนคอลัมน์ประจำให้นิตยสารข่าวอันตามอ่านอยู่ และพบว่าพวกเขาพูดเรื่องความฝันและการวิ่งไล่จับมันกันเยอะจริงๆ โดยเฉพาะที่เป็นการพูดอันมุ่งสื่อสารกับ “คนรุ่นใหม่

แปลกเหมือนกันนะที่ในสังคมมุสลิมเราไม่ค่อยพูดกันเรื่องความฝันของวัยหนุ่มสาวเท่าไหร่  ที่ว่าความฝันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องอาชีพ (ซึ่งเราพอเห็นบ้าง ที่เด็กๆของเราอยากเป็นหมอ แล้วเราก็พูดกันถึงความสำคัญของอาชีพนี้ต่ออิสลามรวมถึงจัดกิจกรรมแนะแนวต่างๆเพื่อพาเด็กๆพุ่งทะยานสุ่ความฝัน อยากให้มีแบบนี้ทุกสาขาอาชีพเลย ตั้งแต่นักเขียนไปจนถึงชาวนา จะได้รู้ว่าทุกอาชีพมีเกียรติทั้งนั้นถ้าคุณประกอบมันเพื่ออิสลาม) แต่หมายถึงความฝันลูกใหญ่ๆของชีวิตที่เรามีไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เช่น อยากมีกิจการของตัวเอง อยากเปิดโรงเรียน อยากไปใช้ชีวิตอยู่บนดอยสูง อยากเดินทางไปทำความรู้จักพี่น้องมุสลิมในดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก และอีกสารพัดอยากที่เชื่อว่ามีหรือเคยมีอยู่ในหัวของคนหนุ่มสาวมุสลิมจำนวนหนึ่ง แต่น้อยคนนักที่จะจริงจังในการเดินไปสู่ความฝันนั้น

มันก็เข้าใจได้นะ ว่าไป เพราะมุสลิมมีชีวิตอยู่ในดุนยาแบบที่รู้แน่แก่ใจว่าชั่วคราวสิ้นดี การได้ทำตามความฝันตัวเองหรือไม่ในดุนยานี้จึงไม่ใช่หลักใหญ่ใจความของชีวิตเราเท่ากับว่าเราจะบรรลุความฝันถึงสถานะสูงส่งในชีวิตโลกหน้าอันเป็นความใฝ่ฝันสำคัญสุดของชีวิตได้หรือไม่ แต่ไม่รู้สิ พักหลังๆทีได้คุยเรื่องความฝันของเหล่าวัยชะบ๊าบที่มีเยอะแยะตาแป๊ะ แต่น้อยคนและน้อยครั้งที่จะเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำตามความฝันได้ แล้วก็รู้สึกว่าที่จริงการมีความฝันของวัยหนุ่มสาว และออกไล่จับมันนั้นเป็นกิจกรรมที่น่ารักออก ทำไมหมดไฟกันง่าย ๆ

ที่พูดนี่หมายถึงความฝันที่ไม่ขัดกับอิสลามนะคะ เช่น คนสาวบางคนอยากเป็นเจ้าของร้านหนังสือ คนหนุ่มบางคนอยากไปเป็นครูในชนบท มุสลิมะฮฺบางคนอยากทำงานอยู่กับบ้าน ไม่ใช่แบบขัดกับหลักการ อย่างมุสลิมะฮฺอยากฉายเดี่ยวแบ๊คแพ๊กเกอร์ตะลุยขุนเขาลำห้วยแบบโลนลี่แพลเน็ท หรืออยากสมัครเอเอฟ เดอะดาว อะไรพรรค์นั้นก็สมควรพับโครงการเก็บไส่กระเป๋าแล้วขุดหลุมฝังดินลึกสักสิบห้าเมตรจะดีกว่า

พวกความใฝ่ฝันทั่ว ๆ ไปที่ไม่ขัดหลักการ หรือบางทีอาจสอดคล้องกับหลักการด้วยซ้ำ (เช่น มุสลิมะฮฺอยากทำงานมีรายได้โดยไม่ต้องออกนอกบ้าน) นี่ ข้าพเจ้าว่าเราไม่ควรปล่อยมันทิ้งไว้ข้างทางของชีวิตเพียงเพราะว่ามันไม่ใช่เส้นทางที่คนส่วนใหญ่เลือกเดินนะ ความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาวมันมีพลังบางอย่าง ไม่ต้องนับกลิ่นและรสเชิญชวนที่พอจมูกและลิ้นเราชราภาพขึ้นมันจะไม่ได้กลิ่นและชิมรสแบบนี้ไม่ได้อีก น่าเสียดายออก

ทำไมพูดเรื่องนี้แล้วต้องร้อนตัวไม่รู้ แต่ยังไงก็คงต้องขอกันท่าไว้ตามธรรมเนียมว่า ชีวิตเรามีปัจจัยความเป็นจริงหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึงนอกจากการไล่ตามความฝัน เช่น มีพ่อแม่และความหวังของท่านที่มีต่อตัวเรา ปัจจัยนี้สำมะคันนักเชียว เพราในชีวิตของเราไม่มีมนุษย์หน้าไหนจะสำคัญและควรแคร์มากไปกว่าสองท่านนี้แล้ว ถ้าความฝันของเรามันขัดแย้งกับความหวังของท่านก็สมควรให้น้ำหนักกับความหวังของท่านก่อน มันสำคัญกว่า  แต่…เอ้อ เรื่องนี้มันก็พูดยากนะ เพราะพ่อแม่แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน พ่อแม่บางคนจริงจังมากกกกก (ก.ไก่ยาวไปสามกิโล) กับความหวังของตัวเองที่มีต่อลูก หมายถึงในเชิงดุนยานะ เช่น อยากให้ลูกเป็นหมอ อยากให้ลูกเรียนจบด็อกเตอร์ อยากให้…. อย่างจริงจังแบบที่ถ้าไม่ได้ตามหวังนี้ท่านอาจถึงกับหัวใจสลายได้ แบบนี้ก็ตัวใครตัวมันน้อ (แนะนำว่าทำตามท่านหวังไปเหอะถ้าทำได้)

แต่พ่อแม่บางคนก็แค่มีความหวังพอเป็นกระสัย คือถ้าลูกเป็น/ทำในสิ่งที่หวังได้ก็ดี แต่ถ้าลูกไม่ชอบในความหวังนี้ก็ไม่เป็นไร พ่อแม่รับได้ (ส่วนตัวเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนมีความหวังในตัวลูกบางอย่างทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครที่ไม่มีความหวังเลย อย่างน้อยก็หวังให้ลูกเรียนจบสูงๆ มีการศึกษาและการงานดีๆทำแหละ) พ่อแม่ประเภทนี้นี่เอง ที่เราสามารถเจรจาต่อรองและพิสูจน์ตัวเองได้ ฟังดูเห็นแก่ตัวไหม? ไม่นะ ข้าพเจ้ามีพ่อแม่ประเภทนี้ คือมีความหวังบางอย่างที่อยากให้ลูกเป็น แต่เคารพในการตัดสินใจของลูกถ้าไม่อยากจะเป็น (ตราบเท่าที่ความอยากของลูกไม่ขัดกับอิสลาม) เชื่อเถอะว่าพ่อแม่แบบนี้ไม่ได้จะมีความสุขเลยถ้าเราทำตามความหวังของท่านโดยที่ตัวเองก็จะตาย อยู่ไปอย่างไร้ชีวิตชีวาและขาดจินตนาการ เราเจรจากับท่านได้ เปิดอกพูดคุยกันตามประสาคนที่ต่างรักต่างห่วงใยกัน ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอยากให้อีกฝ่ายทุกข์ใจหรือเจ็บปวดเลยแม้สักกระผีก และที่สำคัญ-ต้องพิสูจน์ตัวเอง ว่าความฝันของเรามันโอเคต่อชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้าของเรา

(หัวใจของคนเป็นพ่อแม่น่ะเนอะ ที่ต้องการให้ลูกเรียนสูงๆ มีการมีงานดีๆทำ ไม่ใช่เพราะอะไรเลย นอกจากหวังว่าลูกจะมีชีวิตอยู่ได้แบบดีๆ แม้เมื่อไม่มีท่านแล้ว ไม่มีอะไรเพื่อตัวท่านเองเลย ฉะนั้น ถ้าเราเลือกจะเป็นคนไม่มีการศึกษาหรือทำงานแบบที่มองด้วยตาเปล่าก็ไม่เห็นมีราศีใดใด ก็ต้องพิสูจน์ให้ท่านเห็นว่าเราอยู่ได้ ไม่ใช่ทำตามความฝันของตัวเองแล้วรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ต้องแบมือขอพ่อแม่ต่อไป หยั่งงี้ก็สมควรที่พ่อแม่จะเป็นห่วงน้อยเมื่อไหร่)

มันก็คงจะมีปัจจัยอีกหลายอย่างในชีวิตของเรานอกเหนือไปจากความหวังของพ่อแม่ที่ทำให้เรามองว่าความฝันของตัวเองเป็นสิ่งห่างไกลลิบตา ก็แล้วแต่แต่ละชีวิตนะคะ ต้องพิจารณาไตร่ตรองกันเอง เพียงแต่ถ้าเหตุผลของการทอดทิ้งความฝันเพียงเพราะว่ามันโดดเดี่ยวเกินไป ไม่มีใครเขาทำแบบนี้ คือไม่สามารถมองเห็นชีวิตนอกลำดับขั้นแบบที่คนส่วนใหญ่ในสังคมบูชาปริญญาบัตรและเงินเดือนเขาใช้กันได้ อยากบอกว่ามันไม่น่ากลัวขนาดนั้นหรอกค่ะ ถ้าความฝันของเราเป็นสิ่งดีงาม ไม่ได้มีอะไรเลวทราม มันก็ไม่สมควรจะถูกทิ้งขว้างเพียงเพราะมันไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมให้ค่า การไล่ตามมันอาจจบด้วยการเจ็บตัวและคว้าน้ำเหลวในผลลัพธ์รูปธรรม แต่เชื่อเถิดว่ายังไงก็ต้องได้อะไรติดมือกลับไป ถ้ามองไม่เห็นก็เป็นไปได้ว่าที่มันติดอยู่คือในหัวใจของเราเอง – อินชาอัลลอฮฺ

เดอะ โชว์ มัส โก ออน

ไม่มีใครไม่ใจหายกับการจากไปของเราะมะฎอน รายที่อาการเพียบหน่อยก็อาจต้องอาศัยเวลาสำหรับนั่งซึมสักครู่ หรืออาจทิชชู่สักแผ่น-สองแผ่นสำหรับหางตาเปียกชื้น แต่พอเรี่ยวแรงเริ่มมาและทิชชู่หมดโควตา ทุกคนก็ย่อมประจักษ์ว่า…ชีวิตมันต้องไปต่ออยู่ดี
ใจหายแต่ก็ยังต้องหายใจ
เดอะ โชว์ มัส โก ออน


ก็อาจไม่ควรนักหรอก ที่จะเรียกชีวิตดุนยาว่าเป็นรายการโชว์ เพราะชีวิตมันเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่การแสดง (ยกเว้นประเภทเรียลลิตี้อาจพอใกล้เคียง โดยเฉพาะในแง่ที่ว่ามีผู้เฝ้ามองอยู่ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ไม่พร่องไปสักวินาทีเดียวหรือเศษเสี้ยวด้วยเอ้า) แต่ถ้ามองเฉพาะคุณสมบัติบางอย่าง เช่น ความสั้นและจำกัดของเวลาการแสดง  ก็น่าจะพอโมเมได้ว่าละม้ายกันอยู่บ้าง

โชว์ของบางคนวันนี้สุดแสนจะคอมเมดี้ดูง่ายสบายแฮ  บางคนก็ผจญภัยตื่นเต้นทริลเลอร์เชียว  ในขณะที่อีกบางคนดราม่าเข้มข้นจนต้องขอทิชชู่ทุกสามนาที แต่ไม่ว่าจะโชว์แบบไหนมันก็ต้องดำเนินต่อ และไม่ว่าจะแบบไหนมันก็ต้องจบลง ไม่มีเวทีไหนเลยที่เปิดการแสดงอยู่ยงคงกระพันนิรันดร ยากตรงที่เราไม่รู้เสียด้วยว่าโชว์ของเราจะถูกสั่งเก็บเวทีตอนไหน คนรอบคอบเลยพยายามเตรียมฉากจบที่น่าประทับใจให้พร้อมสำหรับทุกวินาที


มันยากเหมือนกันนะ ชีวิตนี้ จริง ๆ โจทย์มันง่าย ๆ ตรง ๆ แหละ คือทำอย่างไรก็ได้ให้ไปสู่สวรรค์ของอัลลอฮฺ แต่ตลอดทางไปมันเต็มไปด้วยขวากหนามสารพัดรูปแบบ(ที่บางทีเราเองนั่นแหละเป็นผู้วางมัน แถมชิ้นใหญ่กว่าใครเลย นิสัยนะ) นึกถึงสติ๊กเกอร์ท้ายรถบรรทุกคันหนึ่งที่เขียนว่า “ทางไปสวรรค์มันรก ทางไปนรกมันเตียน” เสียดายว่าพี่คนขับได้ขับผ่านเข้ามาในสายตาตั้งแต่เฟสบุ๊คอีร่ายังไม่ถูกสถาปนาเป็นรูปร่าง ไม่อย่างนั้นคงได้มีกดไลค์กันมั่งหรอก

มีเพื่อนคน ๑ เคยบอกว่าชีวิตคล้ายเกมส์ มันมีเลเวลให้ผ่าน ยิ่งเลเวลสูงก็ยิ่งยาก  หินหน่อยก็ตรงที่ผู้เล่นมีชีวิตเดียว ตายแล้วตายเลย ไม่มีสิทธิ์กลับมาแก้ไขอะไร

เราะมะฎอนน่ารักก็ตรงนี้ด้วยมั้ง ตรงที่ทำให้อะไรหลายๆ  อย่างบนเส้นทางนี้ง่ายขึ้น ถึงจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่มันก็ง่ายขึ้นจริง ๆ นะ บะรอกะฮฺอวลทั่วบรรยากาศ หัวใจเราไหวอ่อนลง ตัวแสบก็ถูกล่าม อะไรๆรอบตัวก็เอื้อต่อการทำความดีมากกว่าเดือนอื่นๆ เหมือนมันเป็นของขวัญจากเจ้าของเส้นทางนี้ที่ส่งมาให้เราได้พักบ้าง เติมพลังบ้าง แต่ของจริงที่เราต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องผ่านเลเวลของชีวิต ต้องดำเนินโชว์ของตัวเองก็คือช่วงเวลาอีก ๑๑ เดือนที่เหลือ


อย่าห่วงเลยว่าสารพัดบททดสอบจะดาหน้าเข้ามากระหน่ำราวพายุ อย่าห่วง…เพราะมันต้องเข้ามาอยู่แล้ว ผ่านเลเวลดีเปรสชั่นแล้วก็เตรียมเจอเฮอร์ริเคนได้ มันเป็นธรรมชาติของเส้นทางนี้ ดีแสนดีแค่ไหนที่เราได้รู้จักอาวุธที่จะผ่านสารพัดพายุชีวิตพวกนี้ไปได้ ทั้ง ศ็อบร์ ชุกร์ ตะวักกุล ยะกีน ดุอาอฺและอิบาดะฮฺหลากรูปแบบ ชีวิตนอกเราะมะฎอนจึงอาจน่าพรั่นพรึงอยู่บ้างแต่ก็ท้าทายดีนะ ท้าทายให้เราได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นพวกแหย หรือแน่จริง


ใจหายมันเข้าใจได้แหละเนอะกับการจากไปของเราะมะฎอน แต่ไม่ว่าอย่างไรเวทีชีวิตนี้ก็ต้องดำเนินต่อไป ทำมันให้สุดความสามารถละกัน เวลาแสดงก็ไม่ได้จะนานอะไรเลย เดี๋ยวเดียวก็รูดม่านปิดแล้ว
แต่สำหรับวินาทีนี้ที่ม่านยังไม่ปิด…เดอะโชว์ ก็ต้องมัสโกออน!