วิ ช า ‘ ตั ว เ อ ง ศึ ก ษ า ’

คำถามพื้นฐานที่สุดที่มนุษย์จำนวนมากใช้ถามชีวิตตนเอง ไม่ว่าจะอย่างตั้งอกตั้งใจหรืออย่างไม่รู้ตัว ก็คือ “เราเกิดมาทำไม” ?

ชั่วชีวิตหนึ่งของคนเรา อย่างน้อยก็คงจะมีสักครั้งที่คำถามลักษณะนี้ผุดขึ้นในมโนสำนึก เพราะการเกิด-การอุบัติขึ้นของชีวิตมนุษย์นั้น มันดูเป็นเรื่องที่ควรจะมีความหมายมากกว่าแค่การแวะมาเหยียบโลก พบ เผชิญ กระทำสิ่งต่างๆ ตามปรารถนาและไม่ปรารถนา แล้วก็จากไปอย่างจบสิ้น อย่างไม่มีอะไรดำเนินต่อ ธรรมชาติของมนุษย์จะเชื้อเชิญมนุษย์อย่างไม่ให้ทางหลบเลี่ยงไปสู่ความรู้สึกว่าชีวิตควรมีหรือเป็นอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น มันเป็นความรู้สึกที่ทำให้ใครบางคนต้องใช้ทั้งชีวิตเพื่อพิสูจน์และหาคำตอบ ในขณะที่อีกบางคนก็ต้องใช้ทั้งชีวิตเพื่อจะไม่พิสูจน์และไม่หาคำตอบ

 

มุสลิมโชคดีก็ตรงที่เกิดมาพร้อมกับคำตอบนั้นแล้ว รู้แล้วอย่างสว่างแจ้งว่าตัวเองเกิดมาทำไม มีงานอะไรที่ควรทำและต้องทำ ชีวิตคืออะไรและจะต้องไปไหนต่อ ทว่าหลายครั้งการใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่แสนจะซับซ้อนและสับสนเช่นทุกวันนี้ก็ได้ส่งอีกสารพัดคำถามเข้ามาในชีวิตของมุสลิม เป็นคำถามถึงวิถีชีวิต เส้นทาง การศึกษา การประกอบอาชีพ ครอบครัว และอีกสารพัดสารเพ ว่าที่จริงแล้วสิ่งที่เราทำอยู่ ทางที่เราเดินอยู่ มันจะนำไปสู่อะไร มันมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ไหน สอดคล้องกับคำตอบต่อคำถามพื้นฐานแห่งชีวิตที่เรารู้ดีและตอบตัวเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันหรือเปล่า

 

วิถีชีวิตของคนทั่วๆไปในสังคม (โดยเฉพาะในสังคมเมือง) เป็นวิถีที่เป็นแบบแผน ซ้ำซากหมุนเวียนกันอย่างคล้ายคลึงไปเกือบทุกวันและเกือบทุกคน วิถีเช่นนี้เองที่ทำให้ธรรมชาติภายในของมนุษย์ซึ่งมักโหยอะไรบางอย่างอยู่เสมอต้องออกมาตั้งคำถามถึงเป้าหมายที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่ สำหรับมุสลิมซึ่งรู้คำตอบนั้นอยู่แล้ว ก็ไม่วายได้รับอิทธิพลจากคำถามดังกล่าว เพราะก็มีวิถีการใช้ชีวิตที่ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นๆในสังคมนัก  แต่เนื่องจากเราสามารถตอบคำถามใหญ่อันเป็นแก่นแกนของชีวิตประการนั้นได้อยู่แล้ว คำถามที่ว่าจึงสำแดงเดชลงมาที่เป้าหมายรองๆของชีวิต นั่นคือเป้าหมายอันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่

เป็นเรื่องปกติที่สุด และเข้าใจได้อย่างยิ่งที่บางครั้งบางคราวของชีวิต มันจะมีคำถามขึ้นมาในหัวและหัวใจเราว่า เราเรียนสิ่งนี้ไปทำไม เราทำงานนี้ไปทำไม เราจะผลักดันลูกให้เรียนในสถาบันมีชื่อเสียงเพื่อจะจบมาออกมามีศักยภาพพอที่จะผลักดันลูกของลูกเข้าไปในสถาบันเช่นนั้นอีกทำไม

 

ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ว่าคำถามลักษณะดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายในใจของเรา ก็คงต้องยอมรับว่ามันเป็นการตั้งคำถามที่เข้าใจได้เมื่อมองไปยังวิถีชีวิตของมนุษย์-โดยเฉพาะมนุษย์เมือง-ของโลกทุกวันนี้  ตารางเวลาชีวิตประจำวันที่เร่งรัด และวางอยู่บนการแข่งขันแย่งชิงเป็นหลัก นับตั้งแต่แย่งชิงที่นั่งบนรถประจำทางในยามเช้า แย่งชิงที่นั่งในสถาบันการศึกษาหรือองค์กรการทำงานมีชื่อ แข่งขันกันในเรื่องผลการเรียน รายได้ ความมั่งคั่งของครอบครัว และอีกหลายสิ่งหลายอย่างจารไนไม่หมด มันเป็นวิถีที่บั่นทอนอะไรบางอย่างในตัวตนของมนุษย์ เราหยาบกร้านกับชีวิตมากขึ้น มีเวลาใคร่ครวญตัวเองและสรรพสิ่งน้อยลง  ฟ้าสีฟ้าและเมฆสีเมฆที่สวยจับใจในบางเช้าไม่อาจมอบความรู้สึกดีๆให้เรา  หญิงสาวกับกระเป๋าใบละสามหมื่นที่เดินเชิดหน้าผ่านวนิพกผู้คุ้ยหาเศษขยะราคาสักสามบาทไม่อาจสร้างความรู้สึกวูบโหวงให้เกิดขึ้นได้ในอกของเรา เด็กตัวเท่าลูกแมวที่มั่วสุมอยู่ในร้านเกมส์  บุหรี่ในมือของวัยรุ่นชายชุดมัธยม คนแก่หลังค่อมที่ไม่ได้รับที่นั่งบนรถประจำทาง ดอกไม้ที่ถูกปล่อยให้เหี่ยวเฉาอยู่ริมถนนโดยไม่มีใครสนใจรดน้ำ ปลาที่ลอยตายอยู่ข้างถุงขนมบนสายน้ำสีคล้ำ  อะไรต่างๆเหล่านี้ เกือบจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถสร้างความรู้สึกอะไรให้แก่เราได้เลย หรือถ้าสร้างได้ก็น้อยมาก และเหมือนจะน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งที่ธรรมชาติของมนุษย์ถูกสร้างมาให้มีความรู้สึกกับเรื่องเหล่านี้ เชื่ออย่างนั้นนะ เชื่อว่ามันเป็นธรรมชาติ เป็นฟิฏเราะฮฺที่มวลมนุษย์มีร่วมกัน ไม่ใช่เฉพาะศิลปินสุดติสต์หรือกวีหลุดโลกเท่านั้นที่จะสามารถดื่มด่ำกับบางความรู้สึกจากสิ่งเหล่านี้ได้ แต่มนุษย์ทุกคนทีเดียวที่จะรู้สึกอะไรบางอย่างกับสิ่งเหล่านี้ แค่มาก-น้อยต่างกันเท่านั้น หากชีวิตในวิถีคนเมืองทุกวันนี้ทำให้เราแทบจะไม่รู้สึกอะไรกับมัน หมายถึงในภาพรวมๆทั่วๆไปน่ะนะจ๊ะ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกเสมอก็นับว่าเป็นกรณีพิเศษและควรชื่นชม

 

เมื่อมนุษย์ซึ่งถูกสร้างมาให้มีทั้งสมองสำหรับจะคิด และมีหัวใจสำหรับจะรู้สึก ถูกทำให้ศักยภาพทั้งในการคิดและการรู้สึกเปลี่ยนรูปไปโดยวิถีชีวิต ใช่ๆ เราควรใช้คำว่า‘เปลี่ยนแปลงรูปร่างและลักษณะไป’มากกว่าจะบอกว่ามนุษย์ไม่รู้สึกอะไรเลย เราทุกคนยังคงใช้ความคิดกันอย่างหนักหน่วงกับเรื่องที่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชาวเมือง-วิถีของเรา (ซึ่งมีลักษณะอย่างที่บอก คือคล้ายคลึงกันเกือบทุกวันและเกือบทุกคน) คนทำงานคิดเรื่องงานและจะรู้สึกมากมายเหลือเกินกับเรื่องรายได้ (ไม่ว่าลิงโลดเมื่อได้เพิ่ม หรือฟี้บแฟ้บเมื่อถูกลด) นักเรียนนักศึกษาก็คิดเรื่องเรียนและจะรู้สึกมากมายเหลือเกินกับผลการเรียน ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ผิด แต่เมื่อลักษณะเหล่านี้ทำให้ความคิดและความรู้สึกในด้านละเมียดละไมของมนุษย์ลดถอยลง อะไรบางอย่างในตัวมนุษย์ก็จะตั้งคำถามขึ้นมา อย่างเสียงดังเหมือนตะโกนในบางอก และแผ่วเบาแทบไม่ได้ยินในอีกบางอก

“เรามีความสุขแล้วใช่ไหมกับสิ่งที่เลือกทำอยู่”

“เราเหนื่อยกับสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร”

ฯลฯ

 

คำถามพื้นๆเหล่านี้จะไม่ก่อผลกระทบอะไรมากมายเลย ถ้าเราตอบมันได้ย่างชัดเจน คนที่ทำงานโดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าเลือกทำงานตรงนี้เพราะอะไร มีเป้าหมายอย่างไรในการยืนอยู่ตรงนี้ ยิ่งมุสลิมซึ่งตอบโจทย์หลักของชีวิตได้อยู่แล้วยิ่งง่ายใหญ่ คือถ้ายืนกรานกับตัวเองได้แน่นอนว่าเป้าหมายของงานที่ทำอยู่สอดคล้องกับเป้าหมายหลักในชีวิตของเขาอย่างไร เขาก็จะยืนอยู่ต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง ไม่สะทกสะท้าน นักเรียน-นักศึกษาก็ช่นกัน แต่ปัญหามันจะเริ่มเกิดถ้าเราตอบตัวเองไม่ได้ หรือได้ไม่ชัดเจน ว่าเรายืนอยู่ตรงนี้ทำไม สิ่งที่เราทำอยู่มีเป้าหมายอะไร สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของชีวิตเราอย่างไร การตอบตัวเองไมได้ หรือพอจะตอบได้แต่ทว่าเป็นคำตอบที่น่าหวาดกลัวทำให้เราหลายคนเลือกที่จะเมินเฉยให้กับคำถามเหล่านี้ ไม่ตอบ ไม่ใส่ใจ และทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไปให้จบๆ ซึ่งที่จริงแล้วมันไม่ดีหรอก ไม่ดีเลย ภาวะเช่นนี้จะทำให้เราเจ็บปวด จริงๆนะ มันเจ็บปวด เพราะก้าวยืนเราจะไม่แน่น ไม่มั่นคง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีอะไรเข้ามากระทบ มีบททดสอบเข้ามากระหน่ำ สามารถล้มหัวฟาดได้ง่ายๆทีเดียว

 

นั่นแหละคือสิ่งที่อยากจะนำเสนอ : โปรดให้เวลาตัวเองที่จะรู้จักตัวเอง !

 

อาจฟังดูเป็นเรื่องตลก ที่จะต้องมาทำความรู้จักกับตัวเอง แต่จริงๆมันเป็นวิชาเรียนของมหาวิทยาลัยชีวิตที่สำคัญนะ สำคัญมาก หลายครั้งวงจรชีวิตของสังคมทุกวันนี้ซึ่งกำหนดขั้นตอนการเดินทางของชีวิตเรามาเสร็จสรรพว่าต้องทำอะไร-เมื่อไหร่ก็บีบบังคับเรากลายๆให้ต้องเป็นตามนั้น โดยไม่พักต้องเสียเวลาถามและทำความเข้าใจกับตัวเองว่าเราทำสิ่งนั้นๆ ไ ปทำไม เพื่ออะไร  ไม่ต้องนับว่าสังคมทุกวันนี้ยังเต็มไปด้วยสารพัดแนวคิด สารพัดความซับซ้อนสับสนอลเวงวุ่นวาย ที่ยิ่งทำให้เราจำเป็นต้องรู้จักตัวเอง รู้เท่าทันความต้องการและเป้าหมายของตัวเองในทุกๆการกระทำ ฉะนั้น ลองให้เวลาตัวเอง ได้พูดคุย-ทบทวนสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ในแต่ละเดือน แต่ละวัน แต่ละนาที ว่าเราต้องการอะไรจากสิ่งที่ทำอยู่  จุดที่ยืนอยู่ ทางที่เดินอยู่  ตอบตัวเองให้ได้ และควรจะได้อย่างชัดเจนด้วย

การตอบคำถามลักษณะนี้ของตัวเองไม่ได้มันคือความเจ็บปวด ถ้าตอบไม่ได้เรื่อยไป ก็จะเจ็บปวดเรื่อยไป และไม่มีมนุษย์คนใดช่วยตอบให้เราได้เลย เราต้องตอบมันด้วยตัวเอง

 

การรู้จักตัวเอง รู้จุดหมายของตัวเองในทุกๆเส้นทางที่ย่ำไป ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราสามารถยืนอยู่ในจุดที่ยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงทั้งในยามปกติและยามปัญหาถาโถมเท่านั้น แต่มันยังทำให้ใครอื่นทำอะไรเราไม่ได้  เราจะไม่เจ็บปวดเพราะใครไม่ว่าโดยคำพูดหรือการกระทำ และไม่สับสนลังเลจากความไม่เห็นด้วยของใคร ตราบที่ความไม่เห็นด้วยของเขาไม่สามารถหักล้างสิ่งที่เราคิด เชื่อ และใช้มันตอบคำถามตัวเองตลอดมาได้  

 

เราจะชัดเจนในตัวเอง และไม่เจ็บปวดจากความไม่ชัดเจนของตัวเอง เพื่อจะไปเจ็บปวดกับเรื่องราวอีกมายที่มันมีค่าควรให้เจ็บปวดมากกว่า

 

การศึกษาตัวเองเป็นเรื่องดีนะ ดีมากเลยล่ะ ที่จริงมันก็สอดคล้องและอาจนับเป็นส่วนหนึ่งของ “การตรวจสอบตัวเอง” ที่เรารู้จักกันดีได้  แต่มันจะกินลึกไปถึงแนวคิด ทัศนคติ และความรู้สึกต่างๆของเราเองว่ามันมีที่มาจากไหน มันมีจุดหมายอะไร คือถ้ามองเชื่อมโยงกับโลกปัจจุบัน เราต้องยอมรับว่าโลกมันมีอะไรบางอย่างที่ซับซ้อนขึ้นและอธิบายยากมากขึ้นเมื่อเปรียบกับโลกในสมัยก่อนๆ ความคิดของเรา ทัศนคติของเราในบางเรื่อง หรือหลายเรื่อง ล้วนถูกปรุงแต่งขึ้นจากอะไรหลาย ๆ อย่างที่บางทีเราก็แทบไม่รู้ตัว  การได้พูดคุยกับตัวเอง ค้นหาธรรมชาติของตัวเองให้พบ จะทำให้เราไม่ถูกลวงโดยกระแสสังคม ทั้งยังเกี่ยวพันโดยตรงกับการมีชีวิตอยู่อย่างบ่าวที่น่ารักของอัลลอฮฺ เพราะการรู้และเข้าใจในธรรมชาติของตัวเอง จะทำให้เรารู้ว่าเราเป็นคนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านวิธีใด อีมานของเรามักจะเข้มแข็งเมื่ออยู่ท่ามกลางอะไร และสภาพการณ์ใดที่เราสุ่มเสี่ยงจะเป็นผู้แพ้ในสมรภูมิแห่งการรักษาอีมาน…สมรภูมิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต

 

ในระหว่างคาบเรียนวิชาตัวเองศึกษานี้ เราจะพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับมนุษย์ถูกตัดขาด ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอัลลอฮฺถูกกระชับแน่น หลายๆเรื่อง หลายๆซอกมุม หลายๆวินาทีที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เมื่อได้กลับมาทบทวนแล้ว เราจะพบว่ามันเป็นเรื่อง เป็นมุม เป็นวินาทีที่ไม่สามารถจะอธิบายให้มนุษย์คนไหนเข้าใจความเป็นเราได้ แต่กับอัลลอฮฺ…พระองค์ไม่ต้องการคำอธิบาย ทรงรู้และอยู่ร่วมในทุกเรื่องราว ทุกซอกมุม ทุกวินาที มันเป็นความผูกพันที่ล้ำลึกและยิ่งล้ำลึกขึ้นทุกทีที่ได้ทบทวนถึง จนเกือบจะกล่าวได้ว่าการรู้จักตัวเองของเราไม่อาจเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างถูกต้องได้เลย นอกจากมันจะต้องควบคู่ไปกับการรู้จักอัลลอฮฺ…ผู้เป็นเจ้าของชีวิตเราและทุกชีวิต

 

หากเราเป็นคนหนึ่งที่มีความเจ็บปวดสับสนจากจุดที่กำลังยืนอยู่ ลองหาเวลาสักหน่อยจากตารางชีวิตชาวเมืองอันเต็มเอี้ยด นั่งลงพูดคุยกับตัวเอง ศึกษาและทำความเข้าใจตัวตน การกระทำและความคิดของตัวเอง ให้คนบางคนที่อยู่ในตัวของเราได้ออกมาพูดความในใจของเขา  คนที่อาจอยากมองท้องฟ้ายามเช้าและดวงดาวยามดึกเพื่อจะนึกและไม่นึกถึงอะไรต่อมิอะไร คนที่อยากรู้สึกเจ็บปวดกับเด็กที่ถูกทำร้าย และทักทายกับแถวมดข้างกำแพง เมื่อเราได้พบเขา…ด้านที่เป็นธรรมชาติของชีวิต มุมที่ละเมียดละไมนักในตัวตน เราจะรู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย มีเรื่องราว และมีอะไรบางอย่างที่ดีๆ

แปลกเหมือนกันที่ยิ่งเรารู้จักตัวเองมากขึ้น ก็เหมือนเราจะยิ่งรู้จักคนอื่นมากขึ้นด้วย เพราะเรารู้ว่าเรามีข้อบกพร่องตรงนั้น มีจุดด้อยตรงนี้ เรามองเห็นตัวเองในมุมที่เป็นมนุษย์ และเราก็จะยอมให้คนอื่นเป็นมนุษย์ซึ่งย่อมมีข้อบกพร่องด้วย เรามีความเห็นที่แตกต่างกับคนอื่นในบางประเด็นที่ไม่อาจและไม่ควรชี้วัดถูก-ผิด และเราก็จะยอมให้คนอื่นมีความเห็นที่แตกต่างจากเรา เรารู้ว่าอะไรคือเรื่องใหญ่ของชีวิต และเราจะไม่เสียเวลาหรือความรู้สึกไปมากมายกับเรื่องเล็กน้อย เรารู้ว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เราทำสิ่งนี้ ยืนอยู่จุดนี้ และเดินต่อไปในเส้นทางนี้ ซึ่งผลสัมฤทธิ์จากการลงเรียนวิชาตัวเองศึกษาดังกล่าวนี้ย่อมจะทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น ชัดขึ้น และไปต่อได้อย่างมั่นคงขึ้น – อินชาอัลลอฮฺ

 

วิชาตัวเองศึกษาจึงเป็นวิชาสำคัญที่น่ารักน่าลงเรียน มันเป็นเรื่องสยองขวัญนะ ถ้าเราจะรู้จักสิ่งต่างๆไปทั่วโลก รู้ไปถึงกระทั่งดาวอังคาร แต่กลับไม่รู้จักตัวเอง!